xs
xsm
sm
md
lg

กพร.จับมือ มรภ.พระนคร พัฒนาแรงงานผ่านระบบดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ลงนามความร่วมมือกับรองศาสตราจารย์ พงศ์ หรดาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในการพัฒนาแรงงานผ่านระบบดิจิตอล เพื่อเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานภาครัฐนำแผนการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาปฏิบัติใช้

โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ คือ (1) ต้องการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล (2) พัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล โดยมีเป้าหมายให้บุคลากรวัยทำงานทุกสาขาต้องมีความรู้และทักษะดิจิตอลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่กำลังขาดแคลน ซึ่งจะสอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ต้องการพัฒนา และยกระดับฝีมือบุคลากรด้านแรงงานให้มีความรู้และทักษะฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพื่อให้การตอบสนองดังกล่าวประสบผลสำเร็จ

กพร. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในฐานะสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยนำร่องการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Training) ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง ร่วมกันพัฒนาวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) คอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ก) สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยนำโมดูลการฝึกเพื่อเสริมความรู้พื้นฐานที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ มัลติมีเดีย บรรจุในเว็บไซต์แบบออนไลน์ และบันทึกในแผ่นซีดีรอม

แนวทางที่สอง ร่วมกันจัดทำโมดูลการฝึกเพื่อเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ มัลติมีเดีย หลักสูตร e-Training ในสาขาต่าง ๆ เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ช่างเชื่อม ช่างเครื่องทำความเย็น ช่างคอมพิวเตอร์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

แนวทางที่สาม ร่วมกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และนำหลักสูตร e-Training บรรจุในเว็บไซต์ของ กพร. (www.dsd.go.th) เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ให้แก่กำลังแรงงานและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ต่อไป

“ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานตามแนวทางประชารัฐ ได้สร้างนวัตกรรมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน การที่กำลังแรงงานและประชาชนส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ทำให้สามารถเข้ารับชมการฝึกอบรมได้ทางอินเทอร์เน็ต สร้างความสะดวกสบายเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย” นายกรีฑา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น