xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จัดแผนดูแลผู้ป่วยวัณโรค หวังลดผู้ป่วยรายใหม่ 1.2 แสนรายต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. จัดแผนดูแลผู้ป่วยวัณโรคต่อเนื่องปี 60 บูรณาการร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ค้นหา และรักษา มุ่งลดผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 1.2 แสนราย/ปี หลังไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ปท. มีปัญหาวัณโรคสูง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นหนึ่งในสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การที่วัณโรคกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุข เพราะผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา หรือรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง สาเหตุจากการอพยพย้ายถิ่น แรงงานเคลื่อนย้าย การแพร่ระบาดเอชไอวี ส่งผลให้วัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง สะท้อนถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหาวัณโรคดื้อยาจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง ข้อมูลสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 120,000 รายต่อปี

ทั้งนี้ เพื่อร่วมแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สปสช. ได้มีการจัดบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแต่ลดอัตราป่วย และเสียชีวิตจากผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงการลดผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่ด้วย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2560 บอร์ด สปสช. โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 434.32 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยวัณโรค 83,453 ราย ครอบคลุมทั้งยารักษาวัณโรค การรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจเสมหะ และการถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจหาเชื้อวัณโรคดื้อยา และติดตามการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่ได้

“หัวใจสำคัญของการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ คือ การรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาด เพื่อลดการแพร่กระจายโรค ดังนั้น นอกจากการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยวัณโรคข้างต้น สปสช. ยังสนับสนุนการติดตามกินยาผู้ป่วยด้วยวิธี DOT (Directly Observed Treatment) ซึ่งเป็นวิธีติดตามการรักษาที่มีประสิทธิผล พร้อมกับสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมสัมผัส กลุ่มเสี่ยง เพื่อนำเข้าสู่การรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้ รวมถึงผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำที่เป็นพื้นที่ง่ายต่อการแพร่กระจายโรค ซึ่งในปี 2559 สปสช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการคัดกรองใน 84 เรือนจำ ครอบคลุมผู้ต้องขังสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 104,616 คน” รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน พญ.สุชาดา ไชยวุฒิ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนบริการเอดส์ วัณโรค และผู้ติดเชื้อ สปสช. กล่าวว่า การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดวัณโรคของไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่ง สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปี 2559 สปสช. ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ TB Data Hub แบบ Case management และระบบรายงานเพื่อติดตามประเมินผลการให้บริการรักษาผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยบริการในการติดตามและรายงานข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น