xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ตรวจ “วัณโรค” จากเลือด รู้ผลเร็วใน 2 วัน พร้อมตรวจ “ยีนย่อยยา” ครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล
กรมวิทย์พัฒนาการตรวจ “วัณโรค” จากเลือด ช่วยรู้ผลเร็วภายใน 2 วัน ลดการใช้ยาต้านวัณโรคและผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็น คาด เปิดตรวจได้ปลายปีนี้ พร้อมเปิดตรวจยีนย่อยยาวัณโรคครั้งแรกของโลก ช่วยปรับยาให้เหมาะกับคนไข้ รักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำงานวิชาการ วิจัย ค้นคว้า และให้บริการในเรื่องการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งหากนำมาแปลงสู่การนำไปใช้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างการทำงานเรื่อง “วัณโรค” เป็นตัวอย่างที่ดี ที่วิจัย ค้นคว้าแล้วสามารถนำไปใช้ได้เลย เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีการนำเสนอว่าปัญหาของโรคที่สำคัญมาก คือ วัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการควบคุม ป้องกันและรักษาโรค

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวนำเสนอผลงานกรมในรอบ 9 เดือน ว่า ผลงานในระดับครอบครัว เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว และไจกา (JICA) พัฒนาวิธีตรวจระดับการแสดงออกของยีนในเลือดเพื่อวินิจฉัยวัณโรค และเปิดให้บริการตรวจยีนย่อยสลายยารักษาวัณโรคไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ครั้งแรกของโลก ซึ่งผลตรวจถูกต้อง 100% ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาในขนาดที่เหมาะสม ลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาและภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาเกินขนาด และตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง เช่น ยาโรคเกาต์ โรคลมชัก ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายการรักษา และลดความเข้าใจผิดระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ เพราะปัญหาหนึ่งของไทย คือ การวินิจฉัยวัณโรคได้ช้า ส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ช้าด้วย ทั้งที่ 30% ของคนไทยมีเชื้อวัณโรค ทั้งที่ก่อและไม่ก่อให้เกิดอาการ หากสามารถตรวจวินิจฉัยได้เร็วก็จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้เร็วขึ้น

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจเชื้อวัณโรค ขณะนี้กรมฯ มีนวัตกรรม 2 อย่างที่ใช้ในการตรวจ ได้แก่ 1. การตรวจเลือดวินิจฉัยวัณโรค โดยจะเป็นการตรวจเลือดเพื่อดูยีนบางตัวที่ทำงานมากกว่าปกติในผู้ป่วยวัณโรค สามารถทราบผลได้ภายใน 2 วัน ซึ่งเร็วกว่าการตรวจโรคด้วยวิธีการเพาะเชื้อในปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 14 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว คาดว่า ปลายปี 2559 จะเปิดให้บริการการตรวจด้วยวิธีนี้ได้ ที่สำคัญยังช่วยลดการกินยาต้านวัณโรคและผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรคโดยไม่จำเป็นด้วย เพราะจะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นวัณโรคหรือไม่ แพทย์จำเป็นต้องให้ยารักษาวัณโรคไปก่อน ซึ่งยาดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงพบได้ร้อยละ 5 เช่น ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และเกิดผื่น

นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า และ 2. การตรวจวินิจฉัยยีนที่ย่อยยาต้านวัณโรค โดยจากการศึกษาพบว่าคนไข้วัณโรคในไทย 30% จะมียีนที่ย่อยยาต้านวัณโรคช้า ทำให้การย่อยยาทำได้ช้า ส่งผลให้ระดับยาในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบเพิ่มขึ้น 8 เท่า โดยไทยมีการเปิดตรวจดังกล่าวแล้วที่สถาบันโรคทรวงอก ซึ่งเมื่อพบว่าคนไข้มียีนย่อยยาช้า แพทย์ก็จะปรับยาต้านวัณโรคลง ส่งผลให้คนไข้สามารถรับประทานยาที่จำเป็นต้องรับประทานได้ครบทุกตัว นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีโครงการศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคที่ จ.เชียงราย และเชื้อวัณโรคดื้อยาที่ จ.กาญจนบุรี ด้วย ซึ่งการตรวจแบบนี้ราคาถูกมาก สามารถนำมาใช้เป็นการตรวจทั่วไปได้ และทำให้ทราบว่าไทยมีเชื้อวัณโรคที่พบบ่อย 2 ตัว มีความแตกต่างกันคือ เชื้อที่ทำให้ป่วยหนัก และอีกตัวทำให้เกิดการดื้อยา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น