xs
xsm
sm
md
lg

โซฟอสบูเวียร์, CL Now!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นิมิตร์ เทียนอุดม

ฉบับนี้ขอชวนคุณผู้อ่านคุยเรื่องไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ กับการเข้าไม่ถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคนี้ ทั้งที่หากได้รับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ แล้วไวรัสตับอักเสบซีก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

เริ่มกันที่ใครกันที่มีโอกาสเสี่ยงป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบซี? ต้องบอกว่าโรคนี้จะมีประวัติการติดเชื้อจากทางเลือด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเลือดจากการเสียเลือด หรือตกเลือดจากการคลอดบุตร เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีในเลือด ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้เข็มฉีดสารเสพติดที่ไม่สะอาดร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะมีโอกาสในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ง่ายขึ้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ หากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองก็จะไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเริ่มป่วย เป็นตับแข็งหรือเริ่มเป็นมะเร็งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อดีก็คือโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ แต่ปัญหาก็คือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองค่อนข้างสูงราว 7,500 บาท/ราย ซึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพรวมค่าตรวจคัดกรองไปกับค่ารักษา หมายความว่า หากผู้ใดที่ตรวจคัดกรองแล้ว ไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ระบบการเหมาจ่ายจะไม่ครอบคลุม และจากสถิติที่ผ่านมาจากการตรวจ 10 ราย จะมีเพียง 1 ราย ที่ตรวจพบเชื้อต้องเข้ารับการรักษา ทำให้โรงพยาบาลกังวลว่าจะต้องแบกค่าใช้จ่ายในรายที่ตรวจคัดกรองแล้วไม่พบ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงไม่ตรวจให้ ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องหาวิธีการที่ทำให้สามารถจ่ายค่าตรวจคัดกรองให้กับหน่วยบริการครอบคลุมผู้มีความเสี่ยงทุกราย เช่น หาวิธีการหรือน้ำยาตรวจที่มีราคาถูกลง หรือจัดสรรงบประมาณในส่วนของการรักษาให้ครอบคลุมเรื่องการตรวจคัดกรอง เป็นต้น

อีกปัญหาใหญ่ของการเข้าถึงการรักษาโรคนี้ คือ เรื่องยา เนื่องจากปัจจุบัน หากรายใดที่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ก็จะรับการรักษาด้วยยา เพ็กอินเตอร์เฟอร์รอน (Peg Interferon) ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยคล้ายกับอาการของผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ผู้ป่วยหลายรายทนไม่ไหว ขอหยุดรับการรักษา ทั้งที่ปัจจุบันมียาที่ดีกว่าในการรักษาคือ “โซฟอสบูเวียร์” (Sofosbuvir)
แต่...โซฟอสบูเวียร์ มีราคาแพงมากเพราะมีสิทธิบัตร โดยบริษัทยาต้นแบบที่ขายในสหรัฐอเมริกายังตั้งราคาสูงที่ประมาณ 28,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 980,000 บาทต่อขวด ( เฉลี่ยอยู่ที่เม็ดละ 30,000 บาท) การรักษาใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ จะเป็นเงินประมาณ 2,940,000 บาท ซึ่งราคาสูงเกินความเป็นจริง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึง ระบบสุขภาพในประเทศไทยก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดซื้อยาราคาแพงขนาดนี้มาใช้

คำถามสำคัญคือ...เป็นธรรมหรือไม่ที่บริษัทยาตั้งราคายาไว้แพงมหาโหดขนาดนี้ และเป็นธรรมหรือไม่ที่ยาตัวนี้ซึ่งไม่ได้มีความใหม่จริงแต่ได้รับสิทธิบัตรผูกขาดการขายแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีช่องทางในการใช้ยาตัวนี้อยู่บ้างครับ หากกระทรวงสาธารณสุขมีความกล้าหาญพอ เพราะเรายังมีกลไก การประกาศทำ CL (Compulsory Licensing -CL) หรือการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร เหลืออยู่ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียได้ โดยตัวยาชื่อสามัญดังกล่าวมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาโซฟอสบูเวียร์ แต่ราคาเพียง 100 บาทต่อเม็ดถูกกว่าถึง 300 เท่า ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพก็สามารถที่จะจัดซื้อและนำมาใช้ได้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยทุกราย

ระหว่างที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผมไม่ทราบว่าจะมีผู้ป่วยอีกกี่รายที่ปฏิเสธการรักษาเพื่อรอใช้ยาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า รู้แต่เพียงว่า สัปดาห์ที่แล้วที่พี่น้องเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีไปเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ CL กับยาโซฟอสบูเวียร์ ก็มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2 รายที่ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบซีเสียชีวิตลง จนมีการกล่าวว่า ไม่ตายด้วยเอชไอวีแต่ตายด้วยไวรัสตับอักเสบซี

จะรอให้มีคนตายเพิ่มขึ้น หรือจะหยุดการตายด้วยการทำ CL กระทรวงสาธารณสุขเลือกได้ครับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น