xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยป่วย “ตับอักเสบ” มากขึ้น เสี่ยงตับแข็ง-มะเร็งตับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนไทยป่วย “ตับอักเสบ” มากขึ้น เหตุติดเชื้อจากไวรัสบีและ ซี หวั่นไม่แสดงอาการ ไม่รู้ตัวป่วย ทำอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงตับแข็ง มะเร็งตับ

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคตับอักเสบเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบบี มากถึง 780,000 รายต่อปี สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบชนิดบี และ ซี ที่มักมีการอักเสบของตับเรื้อรังผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจก่อให้เกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ได้ โดยตับอักเสบเป็นภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตชัว หรือสาเหตุอื่น ได้แก่ พิษสุรา ยาบางชนิด สารเคมี การที่เซลล์ตับถูกทำลายส่งผลให้การทำหน้าที่ของตับบกพร่อง ร่างกายทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุของตับอักเสบที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี อี และ จี ซึ่งแต่ละชนิดจะมีการติดต่อและแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ และ อี สามารถแพร่เชื้อทางอาหาร น้ำดื่ม ผักผลไม้ สัตว์น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงระบบสุขอนามัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การขับถ่ายอุจจาระลงแหล่งน้ำลำคลอง ไวรัสตับอักเสบบี ซี ดีและจี พบเชื้อในเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ ทางแม่สู่ลูก การสัก การเจาะหู เป็นต้น

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคตับอักเสบที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ มักปรากฏอาการในเด็กโตและผู้ใหญ่มากกว่าในเด็กเล็ก ผู้ป่วยมักสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสในระยะยาว สามารถหายขาดจากโรคได้ ไม่เป็นพาหะเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันมีการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอตั้งแต่ในเด็กแรกเกิด ไวรัสตับอักเสบบี เป็นไวรัสที่พบมากที่สุดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่หายได้เองและพบผู้ป่วยบางส่วนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง เป็นพาหะของโรคในระยะยาว อาจมีภาวะตับแข็ง เป็นมะเร็งตับได้ ไวรัสตับอักเสบซี โดยมากไม่พบการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าติดเชื้อดังกล่าว เพราะไวรัสชนิดนี้มักไม่แสดงอาการ ทำให้มีการอักเสบของตับเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ สำหรับอาการโรคตับเอกเสบโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับการปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายอาจท้องเสีย ต่อมาจะเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง บางรายมีอาการปวดท้องที่ตำแหน่งชายโครงด้านขวา ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด อาจมีอาการคัน ผื่นลมพิษร่วมด้วย

“แนวทางป้องกันโรคตับอักเสบเบื้องต้น คือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติบำรุงตับ เช่น กะหล่ำปลี แครอท ชาเชียว อะโวคาโด ลิ้นจี่ หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารไขมันสูง ดื่มน้ำสะอาดโดยการต้มให้เดือดเป็นเวลา 20 นาที ก่อนบริโภค ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ หากิจกรรมทำร่วมกับครอบครัวเพื่อให้ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ 2 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี สามารถให้ได้ในผู้ที่ยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อน โดยก่อนการให้วัคซีนจะต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อดูว่าเคยได้รับเชื้อมาก่อน หรือมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ติดเชื้อหรือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น