xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสตับอักเสบมหัตภัยร้ายที่ป้องกันได้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไวรัสตับอักเสบมหัตภัยร้ายที่ป้องกันได้ (ตอนจบ)
รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี
ภาควิชาอายุรศาสตร์
ใครควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบีทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์ สามีหรือภรรยาของผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิต้านทานเนื่องจากในปัจจุบันวัคซีนมีราคาถูกลงมากและมีความปลอดภัยสูงจึงควรฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและยังไม่มีภูมิต้านทานทุกคน
ต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนหรือไม่
ในทารกไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน แต่ในผู้ใหญ่ควรตรวจเลือดก่อน เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อหรืออาจมีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว โดยตรวจ HBsAg ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และตรวจ anti-HBs ว่ามีภูมิต้านทานเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ โดยต้องมีระดับของภูมิต้านทานมากกว่า 10 ยูนิต
ต้องฉีดวัคซีนอย่างไร
การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 1 และ 6 ตามลำดับ วัคซีนเข็มที่สองไม่ควรฉีดก่อนหนึ่งเดือน หากเลยกำหนดหนึ่งเดือนให้ฉีดเข็มที่สองทันทีที่นึกได้ และนับต่อไปอีกห้าเดือนสำหรับเข็มที่สาม
การฉีดให้ฉีดเข้ากล้ามที่ต้นแขนเท่านั้น ยกเว้นในทารกควรฉีดเข้ากล้ามที่หน้าขาเพราะแขนมีขนาดเล็กมาก ขนาดที่ฉีดหากอายุน้อยกว่า 18 ปีให้ใช้ขนาดเด็กและมากกว่า 18 ปี ให้ใช้ขนาดผู้ใหญ่
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันผลิตโดยใช้วิธีทางพันธุวิศวกรรมทั้งสิ้น ไม่มีวัคซีนที่ผลิตจากน้ำเลือดอีกแล้ว การฉีดวัคซีนทั้งสามเข็มจะใช้ของบริษัทใดสามารถใช้ทดแทนกันได้หมด
การฉีดวัคซีน มีผลเสียหรือไม่
การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีมีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ 1-2 วัน เจ็บหรือมีผื่นแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
ต้องเจาะเลือดซ้ำเพื่อดูภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนครบหรือไม่
เมื่อฉีดวัคซีนครบสามเข็ม โดยทั่วไปจะมักภูมิต้านทานเกิดขึ้นร้อยละ 95 จึงไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดซ้ำ เพื่อดูว่ามีภูมิต้านทานหรือไม่ ยกเว้นในบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงควรตรวจดูระดับของภูมิต้านทาน 1-2 เดือน หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่สาม
หากฉีดวัคซีนแล้วภูมิต้านทานไม่ขึ้น ควรทำอย่างไร
ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วภูมิต้านทานไม่ขึ้น พบได้น้อยประมาณร้อยละ 5 แนะนำให้ฉีดวัคซีนซ้ำ โดยอาจเพิ่มจำนวนเป็น 4 เข็ม ที่ 0,1,2 และ 6 เดือน หรือเพิ่มขนาดของวัคซีน หรือเปลี่ยนวิธีการฉีดจากฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal injection) ซึ่งจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้มากขึ้น
จำเป็นต้องฉีดวัดซีนกระตุ้นหรือไม่
ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนครบจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลามากกว่า 1 ใน 3 อาจมีภูมิตกลงจนตรวจไม่พบ แต่ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นอย่างรวดเร็ว หากได้รับเชื้อจึงไม่มีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก ยกเว้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หากโดนเข็มตำต้องทำอย่างไร
หากบุคลากรทางการแพทย์โดนเข็มเจาะเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตำ
•หากยังไม่มีภูมิต้านทาน การฉีดวัคซีน 3 เข็มอย่างเดียว อาจสร้างภูมิต้านทานไม่ทัน ต้อง
ฉีดอิมมูโน กลอบบูลิน (hepatitis B immunoglobulin; HBIG)ร่วมด้วยเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
•ในกรณีที่มีภูมิต้านทานแต่ระดับน้อยกว่า 10 ยูนิต ควรได้รับการฉีดอิมมูโนกลอบบูลิน ร่วมกับ
วัคซีน 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน เนื่องจากภูมิต้านทานที่มีอยู่อาจไม่สูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ
•ในกรณีที่ภูมิต้านทานมากกว่า 8 ยูนิต ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม
นอกเหนือจากไวรัสตับอักเสบบี ผู้ที่โดนเข็มตำควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูไวรัสตับอักเสบซีและเอชไอวีร่วมด้วย
**************************
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
จัดงานวันรักษ์ตับโลก “กำจัดเชื้อโรคร้าย ห่างไกลไวรัสตับอักเสบ” ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 08.00-13.00 น. ณ ห้องประชุมอทิตยาทรกิติตคุณ ตึกสยามินทร์ชั้น 7 เชิญชวนผู้สนใจมาร่วมไขข้อสงสัย พร้อมรับบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ วัดดัชนีมวลกาย และรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7281-2 ต่อ 101, 102, 105
กำลังโหลดความคิดเห็น