xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์โชว์ 4 ผลงานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพวินิจฉัย-รักษา “วัณโรค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์โชว์ 4 ผลงานวิจัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยและรักษา “วัณโรค” ทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมประเมินภาวะดื้อยาต้านวัณโรค การตรวจพันธุกรรม ติดตามระดับยาในเลือดเพื่อปรับขนาดยา หวังเพิ่มโอกาสการยุติวัณโรคในอาเซียน

วันนี้ (15 พ.ย.) ที่โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กทม. นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาเพื่อกลยุทธ์ยุติวัณโรค “Innovative Interventions and Researches for End TB Strategy” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับโครงการสร้างศักยภาพวิจัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในอาเซียน ซึ่งได้รับทุนจาก Fogarty International Center, National Institute of Health

นพ.ธวัช กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และอาเซียน เนื่องจาก 8 ใน 10 ประเทศสมาชิก ถูกจัดเป็นประเทศที่มีภาระโรคของวัณโรคสูง สธ. มีนโยบายสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยต่อยอดพัฒนามาใช้ในการตรวจรักษา เพื่อยุติปัญหาวัณโรคทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้กลยุทธ์ยุติวัณโรคเริ่มในปี 2559 เน้นการนำเทคโนโลยีและยาใหม่มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค สนับสนุนให้แต่ละประเทศใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมอย่างพอเพียงและยั่งยืน เร่งสร้างสิ่งใหม่ใช้การวิจัยเป็นหนึ่งในสามเสาหลักเพื่อดำเนินกลยุทธ์ยุติวัณโรค มีตัวชี้วัดให้ทุกประเทศต้องพัฒนาศักยภาพในการวิจัยด้านวัณโรค

“แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 120,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาอย่างน้อย 2,200 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยทั้งที่คนไทยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค เพราะการตรวจและรักษาวัณโรคถูกบรรจุอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ สธ. จึงได้กำหนดให้การยุติวัณโรคเป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ (ด้านสาธารณสุข) ตั้งเป้าหมายให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรคให้ได้ปีละ 9,000 ราย” นพ.ธวัช กล่าว

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ในการวิจัยด้านวัณโรค และได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากไจกา (Japan International Cooperation Agency : JICA) ประเทศไทย และองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agency for Medical Research and Development : AMED) ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) โครงการ “Integrative Application of Hostand Genomic Information for Tuberculosis Elimination วิจัยและพัฒนาจนได้นวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ประกอบด้วย การตรวจเลือดเพื่อประเมินการแสดงออกของยีนที่ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อการประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค วิธีตรวจระดับยาต้านวัณโรค เพื่อประเมินขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม และการตรวจพันธุกรรมเพื่อปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรมโดยจะนำเสนอผลงานทั้งหมดในการประชุมครั้งนี้ด้วย

“นอกจากนี้ ได้เชิญนักวิจัยด้านวัณโรคจากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ อินโดนีเชีย สิงคโปร์ พม่า เนปาล และ ประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านระบาดวิทยา เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แบคทีเรียวิทยา พันธุกรรม เภสัชวิทยา และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการวิจัยวัณโรค เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่แพร่ทางการหายใจ มีความเสี่ยงการแพร่ข้ามประเทศได้ง่ายจากการเดินทางระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือการวิจัยในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่า จะทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการควบคุมวัณโรคที่จำเป็น และยั่งยืนสำหรับผู้ป่วยวัณโรคในภูมิภาค โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกลยุทธ์ยุติวัณโรคในกลุ่มประเทศอาเซียนตามกลยุทธ์ที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้” นพ.สุขุม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น