xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งเดินหน้า 2 โครงการพระราชดำริ ลดปัญหาพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เดินหน้าโครงการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ - มะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศล เผย ปีแรกช่วยผู้ป่วยมะเร็งตับ - ท่อน้ำดี รอดชีวิตสูงถึง 616 คน ส่วนโครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนเยาวชนฯ 15 ปี ลดความชุกของโรคเหลือไม่ถึงร้อยละ 10

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ จ.หนองคาย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. ดำเนินโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์กว่า 200 โครงการ โดยกำหนดให้การพัฒนางานตามพระราชดำริให้เป็น 1 ใน 16 แผนงานในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข โดยได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรครับผิดชอบ 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ และ 2. โครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ในแผนภูฟ้าพัฒนา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นพ.โสภณ กล่าวว่า โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กรมควบคุมโรคเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านโครงการถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี ในปี 2559 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา มีเป้าหมายการดำเนินงาน 27 จังหวัด 138 อำเภอ 209 ตำบล เริ่มดำเนินการเมื่อ 18 มกราคม 2559 ประชาชนได้รับการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ 76,000 คน กลุ่มเสี่ยงได้รับการคัดกรองด้วยอัลตราซาวนด์ 135,000 คน ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเกินเป้าหมาย 600 คน ช่วยคนยากไร้ได้รับการดูแลทันเวลา และมีชีวิตรอดสูงถึง 616 คน ในช่วงแรกของการดำเนินการตามโครงการถวายเป็นพระราชกุศล

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนโครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร และพื้นที่ในแผนภูฟ้าพัฒนาฯ กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยร่วมสนองงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน ดำเนินการในพื้นที่ตามแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร 55 จังหวัดทั่วประเทศ ใน 844 โรงเรียน และพื้นที่ในแผนภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน เป้าหมายนักเรียน เยาวชน และประชาชน ครอบคลุม 24,000 คน 62 โรงเรียน 61 ชุมชน ด้วยกิจกรรมการตรวจและรักษาโรคหนอนพยาธิตามมาตรฐานวิชาการ การป้องกันโรค เพื่อลดความชุกและความรุนแรงของปัญหา จัดกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยบรรจุในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารของสำนักพระราชวัง มีตัวชี้วัดลดความชุกเหลือร้อยละ 5 มีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับต่ำ ตั้งเป้าเป็นโรงเรียนปลอดโรคหนอนพยาธิ นักเรียน เยาวชน มีสุขภาพอนามัยที่ดีแบบองค์รวมและยั่งยืนทั้งในโรงเรียนและชุมชนในปี 2568

“โดยผลการดำเนินงานในระยะเวลา 15 ปี ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร สถานการณ์ความชุกของโรคหนอนพยาธิ ลดลงจากร้อยละ 26.8 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 9.4 ในปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นพยาธิไส้เดือน โรงเรียนที่พบความชุกสูง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยพบความชุกสูงร้อยละ 45.7 ส่วนในพื้นที่ภูฟ้าพัฒนา อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ความชุกโรคหนอนพยาธิในกลุ่มนักเรียนลดลง จากร้อยละ 52.4 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 6.21 ในปี 2559 โดยพบพยาธิไส้เดือนสูงสุด ในกลุ่มประชาชนปี 2545 พบความชุกร้อยละ 56.8 เหลือร้อยละ 14.8 ในปี 2559 โดยพบพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าพยาธิชนิดอื่น” ปลัด สธ. กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น