สธ. น้อมนำ 4 พระราชดำรัส ในหลวง ร.๙ ยึดเป็นแนวทางการทำงานของบุคลากร สธ. ทั่วประเทศ ต้องรู้จักข่มใจ และกล้าทำสิ่งที่ดี ศึกษาวิทยาการเทคโนโลยี ช่วยเหลือใส่ใจประชาชน มีความอ่อนโยนเสียสละ หวังบรรลุเป้าหมาย ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน
วันนี้ (3 พ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “โครงการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อส่งเสริมค่านิยมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุข” ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชนไทย ต้องการให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล ทรงให้ทีมแพทย์หลวง ซึ่งมีทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาและแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาผู้ป่วย ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์พระราชทาน หน่วยทันตกรรมพระราชทานเคลื่อนที่ ออกไปดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
“นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นกองทุนในการส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน และช่วยเหลือผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้น้อมนำจัดทำเป็นโครงการสนองพระราชดำรัส และพระราชดำริ อาทิ วัณโรค โรคเรื้อน เอดส์ โปลิโอ ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค การควบคุมโรคหนอนพยาธิในเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร แจกเกลือเสริมไอโอดีนป้องกันโรคคอพอก และสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าสืบสานโครงการในพระราชดำริต่อไป และน้อมนำพระจริยวัตร พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชดำริ มาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และค่านิยมองค์กร เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศทั้ง 4 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ บริการเป็นเลิศ บุคลากรเป็นเลิศ และบริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สธ. ได้น้อมนำพระราชดำรัสพระองค์ท่าน เป็นค่านิยมองค์กร MOPH ดังนี้ “ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ” คือ M : Mastery เป็นนายตนเอง บุคลากรต้องมีภาวะผู้นำ เป็นผู้นำที่ดี เอาชนะโลภ โกรธ หลงให้ได้
“...การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยี อันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง...” คือ O : Originality เร่งสร้างสิ่งใหม่ ทั้งนโยบาย นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจาเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท” คือ P : People centered approach ใส่ใจประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน
“ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม” คือ H : Humility ถ่อมตนอ่อนน้อม โดยการปฏิบัติตัว และใช้คำพูดที่ดี เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ
ค่านิยมทั้ง 4 ข้อนั้นเป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีค่านิยม MOPH ตามพระราชดำรัส น้อมนำไปปฏิบัติและยึดเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อประชาชน ตามรอยพระบาทพระองค์ท่าน เริ่มทำจากตัวเอง ทำจนติดเป็นนิสัย ปลูกฝังในจิตวิญญาณ จะสามารถขับเคลื่อนงานต่างๆ ไปถึงเป้าหมาย ประชาชน สุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืนต่อไป