“หมอปิยะสกล” ฝากชาว สธ. ยึด 4 ค่านิยม ช่วยระเบิดความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก สร้างเป้าหมายที่ยั่งยืน “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ปลัด และผู้บริหารบ่อยครั้ง
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายสาธารณสุขปี 2560 ก้าวที่มั่นคง...สู่สังคมสุขภาพที่ยั่งยืน ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 ว่า เป้าประสงค์ หรือวิสัยทัศน์ของ สธ. นับจากนี้ คือ เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ เพราะสุขภาพเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะ สธ. เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน ส่วน สธ. ต้องผลักดันให้นโยบายด้านสุขภาพต่าง ๆ ดีขึ้น เป็นการรวมพลังสังคมเพื่อประชาชนสุขภาพดี ส่วนเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ส่วนคำถามที่ว่าจะเดินหน้าสู่เป้าหมายได้อย่างไรในเมื่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้บริหารระดับสูงมีการเปลี่ยนคนบ่อย ก็ขอให้ดูประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง แม้จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อย แต่คนญี่ปุ่นก็จะมีค่านิยมบางอย่างร่วมกันทำให้ประเทศยังสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คน สธ. จะต้องยึดค่านิยมร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1. Mastery เป็นนายตัวเอง หมายถึงสามารถบังคับตนเองได้ ลดโลภ โกรธ หลง ทำเพื่อผู้อื่น นี่คือภาวะผู้นำ 2. Originality รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ 3. People Centered Approach ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะดำเนินการสิ่งใดขอให้นึกถึงประชาชนก่อน ให้ถามตัวเองเสมอว่าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร และ 4. Humility คือ มีความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งจะทำให้เราเข้าได้กับทุกที่ทุกคน เสมือนเป็นน้ำที่แทรกซึมได้ทุกที่ อย่าง สธ. เองต้องทำงานร่วมกันกับคนเยอะ หน้าที่จะต้องทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน หากมีค่านิยม 4 ข้อนี้ ในชาวสาธารณสุขทุกคน ทุกพื้นที่ จะทำให้ สธ. เดินสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรี ปลัด หรือผู้บริหารใหม่ก็ตาม เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในเป็นระเบิดจากภายใน ซึ่งเรามีระเบิดอยู่มากมาย ต้อทำให้สิ่งที่มีอยู่ระเบิดออกมาเกิดศักยภาพให้ประชาชนได้ประโยชน์” รมว.สธ.กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สธ. จะมีการพัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ 1. ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P Excellence) ที่จะต้องขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ จะเอารูปแบบของ รพ.อุ้มผางมาใช้ที่ รพ.สันป่าตอง ก็คงไม่ได้ 2. ด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Excellence) รพ.สังกัดสธ. ต้องมีการประสานเครือข่าย รพ. ทั้งประเทศในทุกสังกัด รวมถึงภาคเอกชนจะต้องมีการร่วมมือกันในการพัฒนาบริการ 3. ด้านการพัฒนาคน (People Excellence) บุคลากรต้องมีความมั่นคงในคุณธรรมและมีปัญญาที่จะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ และ 4. ด้านระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม (Governance Excellence) ให้คุณค่าผู้ป่วยด้วยการ เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่