เปิด 5 อันดับเครื่องดื่มปริมาณ “น้ำตาล” สูงสุด พบ “แดงโซดา” เทียบเท่า 15 ช้อนชา “โอวัลติน - ชามะนาว - ชาดำเย็น - นมเย็น” มากกว่า 12 ช้อนชา ชี้ แค่ 1 แก้ว เกินปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการเท่าตัว เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย
ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ โครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในร้านขายเครื่องดื่มบนถนนสายเศรษฐกิจ เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี ว่า จากการสำรวจปริมาณน้ำตาลของร้านขายเครื่องดื่มบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ถนนราชวิถี รอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มิลลิลิตร (มล.) จำนวนร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่างพบว่า เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
1. แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2. โอวัลติน 13.3 ช้อนชา 3. ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4. ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5. นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้ มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา โดยเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด รองลงมาคือ วิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล
“ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มย่านการค้าและใจกลางเมือง กลับพบว่า เพียงบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ จากเดิมที่คาดว่า เครื่องดื่มประเภทขุ่นที่มีส่วนผสมของนม นมข้นหวานหรือครีมเทียม จะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า แต่กลับพบว่า เครื่องดื่มประเภทใสกลับมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากชามะนาวที่มีรสเปรี้ยวของมะนาว ทำให้ต้องใส่มะนาวเพิ่มความหวานมากขึ้น” ศ.พญ.ชุติมา กล่าว
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ซึ่งเป็นรากของปัญหา NCD ทั้งเบาหวาน ความดัน หากไม่ทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานเราจะได้คนในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว
“จากผลการศึกษาจะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว จะมีปริมาณน้ำตาลที่มากกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ซึ่งการดื่มน้ำหวานจะดูดซึมได้เร็วมากกว่าการกินอาหารหรือขนม เพราะเหมือนเป็นการกระหน่ำน้ำตาลในร่างกายทำให้ตับอ่อนทำงานอย่างหนัก ด้วยการผลิตอินซูลินเข้ามาจัดการเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือด คนจึงเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้น” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการเครือข่ายรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า การปรับพฤติกรรมการบริโภคไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. จึงได้ทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กร โรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งอาหารว่างสุขภาพในองค์กรภาครัฐและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อสร้างค่านิยมและความเคยชินในองค์กร การสนับสนุนให้มีโรงอาหารทางเลือกให้มีเครื่องดื่มชงลดความหวาน นอกจากนี้ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาได้เพิ่มมาตรการขนมเพื่อลดภาวะอ้วน เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติซึ่งจะส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมไปในตัว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ที่ 415 ล้านคน โดยทุก 6 วินาที จะผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน และ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ประเทศไทยข้อมูลจากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยด้วยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557 - 2558 ของ สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งคนในกลุ่มหลังหมายถึง ร้อยละ 5 - 10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ โดยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต