xs
xsm
sm
md
lg

นร.หญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 5.2% ขณะที่เด็ก ม.ต้น สูบบุหรี่ 1 ใน 6

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


องค์การอนามัยโลก เผยผลสำรวจร่วม สธ. พบ เด็ก ม.ต้น 1 ใน 6 คน สูบบุหรี่ ภาพรวมอัตราสูบบุหรี่ในนักเรียนอยู่ที่ 11% ใกล้เคียงผลปี 2552 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ห่วงอัตราสูบบุหรี่ใน นร.หญิงเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 5.2%

นพ.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย จัดทำการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย โดยพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ที่ยังสูงของเยาวชนไทย เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก ผู้สูบบุหรี่ไทยเริ่มต้นสูบในช่วงวัยรุ่น ซึ่ง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ได้บรรจุมาตรการที่มุ่งปกป้องเด็กและเยาวชนจากอันตรายของยาสูบเอาไว้ องค์การอนามัยโลก จึงคาดหวังว่า พ.ร.บ. นี้ จะประกาศใช้ได้โดยเร็ว  เนื่องจากผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า นักเรียนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างง่ายดาย โดย 67% สามารถซื้อบุหรี่ได้จากร้านค้าในชุมชน โดย 44% ไม่ได้ถูกปฏิเสธการซื้อ  แม้ว่าจะมีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นของการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่เยาชนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ การเห็นพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอยู่ในระดับสูง โดยเด็กนักเรียน 73% ระบุว่า เห็นภาพการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบปรากฏในสื่อ

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการควบคุมความแพร่หลายของการใช้ยาสูบ เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่ได้ลดลงในเยาวชน แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายป้องกันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยยังจำเป็นต้องปรับบริบททางสังคมให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อลดการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชน อย่างไรก็ดี ผลสำรวจได้สะท้อนผลสำเร็จจากมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการใช้ยาสูบ เช่น การสัมผัสควันบุหรี่มือสองในพื้นที่สาธารณะลดลงเป็นอย่างมาก จาก 67% เหลือ 39%

“มีเด็กจำนวนมากขึ้นได้รับความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากยาสูบในโรงเรียน สืบเนื่องจากมาตรการร่วมของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในสถานศึกษา ผนวกกับแรงสนับสนุนจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ นักเรียน 95% สังเกตเห็นคำเตือนภัยที่ปรากฏบนซองบุหรี่ ทำให้นักเรียนจำนวนมากมีความต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ หรือตั้งใจว่าจะไม่เริ่มสูบ ผลสำรวจนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของรัฐบาลในการออกนโยบายขยายขนาดของภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ของขนาดซองในปี 2557” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.สุเทพ  กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่า นักเรียนที่สูบบุหรี่เกือบ 40% ซื้อบุหรี่แบ่งขายเป็นมวน ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมาตรการห้ามการแบ่งขายในลักษณะดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยับยั้งการสูบบุหรี่ในเยาวชน และยังพบว่านักเรียน 3.3% สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนผสมของนิโคตินที่เป็นสารเสพติด ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบก่อให้เกิดภาระต่อสังคมไทย ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากการสูญเสียผลิตภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมถึงสร้างภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการดูแลรักษาโรคอันเนื่องมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น

ทั้งนี้ อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย การมีกฎหมายควบคุมยาสูบที่ครอบคลุม การขึ้นราคายาสูบ การเตือนและตอกย้ำภัยจากการใช้ยาสูบผ่านแคมเปญสื่อสารสาธารณะ และการให้บริการเลิกบุหรี่ โดยข้อมูลจากการสำรวจข้างต้นจะถูกนำมาใช้ในการติดตามสถานการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนตามที่ได้กำหนดไว้ในกรอบอนุสัญญาฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น