xs
xsm
sm
md
lg

พิชิตเด็ก Gen Y ด้วยเทคนิคของครูพันธุ์ Why

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ถ้าไม่มีผู้ที่อบรม ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย หรือผู้ที่อบรม หรือผู้ที่บ่มนิสัย เป็นคนที่คุณภาพต่ำ ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อมคุณภาพต่ำเหมือนกัน อาจจะยิ่งร้ายกว่า แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ก็ไม่มีอะไรแทนคนสอนคน” คือใจความสำคัญตอนหนึ่งของพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

จากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้ยิ่งย้ำแน่ชัดว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลเพียงใดก็ตาม แต่บทบาท “คนสอนคน” อย่างอาชีพ “ครู” นั้น ก็ยังสำคัญเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของเด็กเจนวาย (Gen Y) ซึ่งต้องเข้าใจในธรรมชาติ และพฤติกรรมมากเป็นพิเศษ ด้วยปัจจัยหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุด แม็คเอ็ดดูเคชั่น ได้จัดกิจกรรมสัมมนา “พิชิตเด็ก Gen Y ด้วยเทคนิคของครูพันธุ์ Why…” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์วรพงษ์ แสงประเสริฐ อาจารย์ประจำหมวดภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หรือ “อาจารย์ต๊อบ” ติวเตอร์ชื่อดังขวัญใจวัยรุ่น มาเป็นวิทยากรแนะแนวทางคุณครูที่เข้าร่วมงาน
นายคมพิชญ์  พนาสุภน
นายคมพิชญ์ พนาสุภน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า เรื่องของการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ใครเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรมีบทบาทร่วมกัน แม็คฯ เอง มีนโยบายในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนโดยผ่าน “ครู” มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพราะเชื่อในแนวทางที่ว่า “ปฏิรูปการเรียนรู้ ครูคือหัวใจ” ครูควรได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ มีการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และควรมีตัวช่วยในการจัดการเรียนการสอนที่ดี โดยเฉพาะในปัจจุบันที่บทบาทของครูจะไม่ใช่เพียงเป็นผู้ให้ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นผู้แนะนำการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการค้นคว้าหาความรู้ให้เด็กอย่างถูกวิธี และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด
อาจารย์วรพงษ์ แสงประเสริฐ
อาจารย์วรพงษ์ แสงประเสริฐ ได้เปิดประเด็นให้ครูผู้เข้าร่วมงานได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ก่อนที่จะแนะเทคนิคสำหรับการเข้าถึงนักเรียน GEN Y ให้มากขึ้นว่า “นักเรียน GEN Y เป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีความเป็นตัวของตัวเองและมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข มีความสามารถในการทำงานหรือชอบการติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยี และชอบทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากในยุคของผู้ใหญ่ที่เติบโตมา ปัจจุบันครูหลายคนจะเจอปัญหาว่าเด็กสมัยนี้ดื้อ ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่เชื่อฟัง ไม่สนใจเรียน ส่งผลให้ความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษานั้นต่ำกว่าเกณฑ์ แต่หากมองในมุมกลับกันครูผู้สอนอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับเองใหม่หรือเปล่า ว่าทำไม? เราจึงไม่หารูปแบบการสื่อสาร หรือการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับนักเรียนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง กล้าตั้งคำถามและสงสัยในบทเรียนมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในเนื้อหาวิชาการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นแทน ถือเป็นการบูรณาการโดยใช้ความเข้าใจในคุณลักษณะและพฤติกรรมของนักเรียน นำมาจัดรูปแบบการเรียนการสอนและสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ภายในชั้นเรียน”

สำหรับเคล็ดลับง่ายๆ เพื่อให้ครูได้นำไปปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ได้แก่ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เนื่องจากสมาร์ทโฟนถือเป็นปัจจัยที่ ๖ ของเด็กสมัยนี้ ครูสามารถนำมาเชื่อมโยงกับรูปการเรียนการสอนได้ อาทิ การตั้งโจทย์ให้ค้นหาคำตอบ การสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับนักเรียนหลังหมดคาบเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อแล้ว ในแง่ของจิตวิทยาแล้วยังจะช่วยสร้างความรู้สึกใกล้ชิดและผูกพัน ทำให้เด็กรู้สึกว่าวิชาการมิได้เป็นเรื่องไกลตัวจากชีวิตประจำวันเลย สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เพราะเด็ก GEN Y เป็นวัยที่ต้องการการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียม

ดังนั้น บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ภายในห้องเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ออกความคิดเห็น ตั้งแต่การเลือกเนื้อหาที่นักเรียนสนใจ วิธีการวัดผลที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียมตามความถนัดอันหลากหลายของนักเรียน อาทิ นักเรียนบางคนถนัดการวาดรูประบายสี บางคนถนัดการพูดอภิปราย บางคนถนัดการการเขียน ซึ่งครูควรมีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างในเกณฑ์ที่จะนำมาใช้วัดผล ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดแบบหนึ่ง รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือ เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็น สร้างปฏิสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกิดการคิดต่อยอด ที่สำคัญคือ ครูควรใช้วิธีแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะนักเรียนมากกว่าการชี้ผิดชี้ถูก และเทคนิคสุดท้าย มอบความรักและความห่วงใย แม้ว่าเด็ก Gen Y จะมีโลกส่วนตัวสูง แต่ทุกคนก็ยังต้องการความเข้าใจจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นความต้องการอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในยุคสมัยใดก็ตาม
อาจารย์สุพรรษา ศรีสังข์
ด้าน อาจารย์สุพรรษา ศรีสังข์ อาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีสหะพาณิชย์ บริหารธุรกิจ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่านักเรียนสายอาชีพจะมีความแตกต่างจากนักเรียนสายสามัญในแง่ของความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองที่มากกว่า เพราะบางคนทำงานและเรียนไปพร้อมกัน แต่ก็จะมีอุปนิสัยของเด็ก Gen Y เหมือนกันดังเช่นการใช้สมาร์ทโฟน ดังนั้น เคล็ดลับส่วนตัวที่ใช้สอนนักเรียนนั้น คือ การสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก และใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับเด็ก มีไว้เพื่อสั่งงาน ส่งการบ้าน อธิบายบทเรียนที่ไม่เข้าใจในชั้นเรียนได้ ตลอดจนใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ใช้เพื่อการพูดคุยให้คำปรึกษากับนักเรียน หากเห็นว่าเด็กคนไหนขึ้นสถานะที่ดูจะมีปัญหา ทำให้เด็กเครียด ก็จะเรียกมาพูดคุยเพื่อให้เด็กได้ระบายออกและรู้สึกว่ามีที่พึ่ง หากเราเลือกใช้เทคโนโลยีในทางที่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากทีเดียว”
นายชุมพล จันทะลา
ส่วน นายชุมพล จันทะลา ครูฝึกสอนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) กล่าวว่า “นักเรียนในปัจจุบันมีความแตกต่างในยุคที่ผมเป็นเด็กนักเรียน โดยสมัยนี้จะกล้าแสดงออก ช่างสงสัย ซึ่งกลยุทธ์ที่ผมใช้สอนนักเรียนในห้องจะใช้วิธีการเรียนรู้ไปร่วมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดแล้วให้นักเรียนจดจำเพียงอย่างเดียว ไม่ปิดกั้นความรู้หรือเนื้อหาที่นักเรียนได้มาจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจากตำรา หรือการกวดวิชา พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักเรียนเอาความรู้เหล่านั้น มาอภิปรายกันในห้องโดยที่เราก็อธิบายเสริมเพิ่มเติมขยายให้ ซึ่งทำให้ตัวผู้สอนเองก็ได้แง่มุมใหม่ๆ ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ อยากค้นคว้าเพิ่มเติม”

ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปเท่าไร “ผู้สอน” ก็ยิ่งต้องปรับเปลี่ยนมุมมองพร้อมบูรณาการวิธีการสอนให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ “ผู้เรียน”ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งกระบวนการทางความคิดและวิชาการ แม้ปัจจุบันความรู้จะสามารถหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วแต่ความรู้เหล่านั้นอาจจะไม่ได้ถูกกลั่นกรองมาอย่างถูกต้องหรือยังไม่ได้ถูกแนะแนวทางการใช้ให้เหมาะสม ดังนั้นการจะก้าวสู่จุดมุ่งหมายได้อย่างสัมฤทธิ์ผลนั้น ย่อมไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่คนสอนคน.....
กำลังโหลดความคิดเห็น