สธ. เพิ่มจุดบริการดูแลประชาชนสักการะพระบรมศพ เป็น 12 จุด รอบสนามหลวง ถึงพระบรมมหาราชวัง เผย ปฐมพยาบาลแล้วกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่ขอรับยาดม ส่งรักษาต่อ 11 คน ด้วยภาวะความดันสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ แน่นหน้าอก เตือนผู้ป่วยเบาหวานเตรียมตัวให้พร้อม พกลูกอม น้ำหวาน และ ยาประจำตัว
วันนี้ (19 ต.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานดูแลประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมศพและลงนามแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 18 ต.ค. นั้น ในด้านร่างกาย มีผู้รับบริการทางการแพทย์ 186 คน อาทิ เป็นลม ตะคริว อุบัติเหตุเล็กน้อย ปฐมพยาบาล 5,054 คน แจกยาดม/แอมโมเนีย 3,877 คน ที่เหลือทำแผล ขอรับยา ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด วัดความดันโลหิต ตรวจโรคและรักษา 924 คน อาทิ ปวดท้อง ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ ท้องเสีย นอนไม่หลับ ไข้ เจ็บคอ ปวดหลัง/ขา ระบบทางเดินหายใจ ปรึกษาสุขภาพ โดยมีผู้ป่วยส่งรักษาต่อโรงพยาบาล 11 คน ด้วยโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน แน่นหน้าอก ส่วนด้านจิตใจ มีผู้เข้ารับบริการประเมินสุขภาพทางจิต/ขอรับคำปรึกษา 404 คน ส่วนใหญ่ปรึกษาเรื่องความเครียด
“วันที่ 19 ต.ค. ได้ปรับและเพิ่มจุดให้บริการเป็น 12 จุด ได้แก่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวงฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า สนามหลวงที่กองอำนวยการกรุงเทพมหานคร ประตูวิเศษชัยศรี ท่าช้าง ข้างกระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง สนามหลวงด้านศาลฎีกา ศาลาสหทัยสมาคม โรงพยาบาลสนามกองทัพบกในสนามหลวง และสนามหลวงตรงข้ามวัดมหาธาตุฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน มีฝนตกสลับกับอากาศที่ร้อนจัด ประชาชนเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายจากโรคที่มาจากสภาพอากาศ ขอให้ประชาชนผู้ที่มาร่วมพิธี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมตัวร่างกาย เตรียมอุปกรณ์ประจำตัวให้พร้อม อาทิ ร่ม หมวก ชุดกันฝน น้ำดื่ม อาหาร ให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานขอให้พกลูกอม น้ำหวานและยาประจำตัวติดตัวด้วย ซึ่งจากรายงานผลการปฏิบัติงาน พบมีผู้ป่วยเบาหวานมารับบริการด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทุกวัน” ปลัด สธ. กล่าว
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาด้านจิตใจที่พบส่วนใหญ่ คือ โศกเศร้าเสียใจ หายใจเร็ว เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงซึมเศร้าอยู่บ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งทั้งหมดได้รับการปฐมพยาบาลทางใจ ทั้งให้คำแนะนำปรึกษา ฝึกหายใจให้ช้าลง และได้รับการดูแลช่วยเหลือ ส่งต่ออย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การแสดงความเศร้าโศกและอาการทางใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องปกติ ที่ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก และจะค่อยผ่อนคลายจนเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงประมาณ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้ขอให้ดูแลกันและกัน ด้วยการใช้หลัก “3L” : Look Listen Link หรือ “3ส” : สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง คือ ช่วยกัน 1. สอดส่องมองหา (Look) กลุ่มเสี่ยง เช่น พูดน้อยลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เมื่อพบขอให้ 2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) เข้าพูดคุย หรือ สัมผัส จับมือ โอบกอด เพื่อให้ผ่อนคลาย กรณีผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้รับฟังท่าน ชวนท่านคุย เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน เพื่อลดความโศกเศร้าลง รวมทั้งชวนทำกิจกรรม เช่น เข้าวัด ทำบุญ หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ แต่หากความโศกเศร้านั้นเป็นอยู่นาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก ขอให้ 3. รีบส่งต่อเชื่อมโยง (Link) หรือนำพาพบแพทย์ ให้การช่วยเหลือ