xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้ม! กองทุนสุขภาพท้องถิ่น ประสบผลสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยถอดบทเรียนกองทุนสุขภาพท้องถิ่นระดับพื้นที่ ระบุ ประสบความสำเร็จอย่างสูง มี เทศบาล - อบต. เข้าร่วมเกือบ 100%

นายนรภัทร ปลอดทอง ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (มท.) และอดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “เสริมประสาน ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะถูกคาดหวังถึงบทบาทเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง โดยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นขึ้นอยู่กับกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎหมายจัดตั้ง เช่น เทศบาลก็จะมี พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งจะเขียนไว้ชัดเจนว่าเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำอะไรได้บ้าง 2. พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นภารกิจที่กระทรวง ทบวง กรม จะกำหนดไว้เพื่อมอบหมายให้ท้องถิ่นดำเนินการตามแผน ดังนั้นหากภารกิจใดที่ไม่มีการถ่ายโอนตามกฎหมายฉบับนี้ ท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการใด

สำหรับปัญหาเรื่องภารกิจที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงาน ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจเป็นผู้ชี้ขาดว่าภารกิจใดเป็นของท้องถิ่นหรือไม่ เพราะสิ่งที่ท้องถิ่นกลัวที่สุดก็คือการถูกเรียกเงินคืน จึงไม่กล้าจ่ายเงินออกไป หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่

นายนรภัทร กล่าวว่า ภารกิจที่ท้องถิ่นทำได้ 1. ต้องมีอำนาจหน้าที่ชัดเจน 2. ต้องมีงบประมาณ โดยงบประมาณท้องถิ่นทั่วประเทศมีประมาณ 6 แสนล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็นงบประมาณที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีประมาณ 215,000 ล้านบาท

“เงินที่ใช้ในระบบประกันสุขภาพของท้องถิ่นนั้น อยู่ในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล” นายนรภัทร กล่าวต่อว่า ในส่วนของ มท. ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ มีอยู่ 3 ภารกิจ ได้แก่ 1. การรักษาพยาบาลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในขณะนี้มีกว่า 4 แสนราย เดิมก่อนปี 2557 ท้องถิ่นจัดตั้งข้อบัญญัติไว้เป็นค่ารักษาของใครของมัน หากไม่พอก็ต้องไปเอาเงินจากงบกลาง หรือส่วนอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังมีการลงบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2557 ทาง มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณขึ้นมา แล้วให้ สปสช. เป็นผู้บริหารจัดการ แต่งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรก็ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาล

2. กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นระดับพื้นที่ ซึ่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ โดยหลักการก็คือ สปสช. จะเอาเงินไปให้ส่วนหนึ่ง แล้วจะให้ท้องถิ่นสมทบอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ ในปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการ มีท้องถิ่นที่เข้าร่วม 888 แห่ง แต่ในปัจจุบันมีเทศบาลและอบต.ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯ แล้ว 99.89% เหลืออีกประมาณ 10 แห่งเท่านั้น ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่าติดขัดเรื่องทัศนคติของผู้บริหารบางแห่ง รวมถึงงบประมาณที่ท้องถิ่นต้องจ่ายสมทบ

“เท่าที่ได้รับรายงานคือ ขณะนี้ท้องถิ่นเริ่มคิดเอง เริ่มสร้างนวัตกรรมของตัวเอง ใช้ภูมิปัญญาของชุมชนเอง เช่น แพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพร ฉะนั้น ในเรื่องหลักประกันสุขภาพของท้องถิ่นระดับพื้นที่ ผมถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างสูง” นายนรภัทร กล่าว

3. การฟื้นฟูสุขภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด โดยแม่งานหลักคือ อบจ. ในปัจจุบันมี อบจ. เข้าร่วมแล้ว 41 แห่ง จากทั้งหมด 76 แห่ง ซึ่งในอนาคตบทบาทส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น