xs
xsm
sm
md
lg

PD First Policy “ละเมิดสิทธิ” หรือ “ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
“สิทธิผู้ป่วย” เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ไม่เพียงแต่แพทย์ผู้ให้การรักษา แต่ยังรวมถึงผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ต้องพิจารณาเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพที่จำเป็น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษา แต่ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานควบคู่ เพื่อคงสิทธิการรับบริการรักษาที่ดีให้กับผู้ป่วย

“การล้างไตผ่านช่องท้อง” เป็นวิธีหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกจากการล้างไตผ่านเครื่องฟอกไตเทียม ถูกกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้ “นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (PD First Policy) จากการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยด้วยผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคไต ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานการรักษา รวมความเหมาะสมกับประเทศไทย

ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี ของการดำเนินนโยบายนี้ แม้ว่าผลสำเร็จที่ได้ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ยังถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มผู้ไม่เข้าใจและเห็นต่าง มองว่า เป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย โดยใช้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่รับการล้างไตผ่านช่องท้องโน้มน้าวประชาชนให้เห็นว่าเป็นบริการการรักษาที่ไม่เป็นมาตรฐานเพื่อให้ยกเลิกนโยบายนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคไตที่คลุกคลีกับการรักษาและดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อหลายท่าน ได้เคยออกมาให้ความเห็นแย้งในเชิงหลักวิชาการแพทย์แล้วก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็น รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ อายุรแพทย์โรคไต หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ระบุว่า ก่อนปี 2551 ที่ยังไม่มีการดำเนินนโยบาย PD First Policy ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะเสียชีวิตลงเกือบทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ดิ้นรนรักษาโดยใช้ทุนทรัพย์ตนเองและครอบครัว แต่นำมาสู่ภาวะล้มละลาย แต่นโยบายนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวนมากเข้าถึงการรักษาและมีชีวิตยืนยาวได้ พร้อมยืนยันว่า การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีการล้างไตที่เป็นมาตรฐาน

“หากถามว่าอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเป็นตัวเลขที่สูงหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่เพราะว่าผู้ป่วยที่รับการล้างไตผ่านช่องท้องมีทั้งผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ต้องเสียชีวิตลง ตัวเลขนี้จึงถือว่าไม่สูง ทั้งยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ของนานาชาติ จึงต้องบอกว่าการดูแลผู้ป่วยไตวายบัตรทองนี้ใช้ได้”

ขณะที่ พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เคยออกมาระบุว่า ด้วยนโยบาย PD First Policy ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ผู้ป่วยไตของไทยไม่ถูกทอดทิ้ง ภาพรวมทั่วโลก พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกปล่อยให้เสียชีวิตลงเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา และจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (International Society for Peritoneal Dialysis : ISPD) พบว่ามี 60 ประเทศทั่วโลกแล้วที่ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องนี้ เพราะนอกจากการรักษาที่เป็นมาตรฐานแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าการฟอกไต

พร้อมกันนี้ พล.ท.นพ.ถนอม ให้ความเห็นที่ประเทศไทยต้องดำเนินนโยบาย PD First Policy โดยไม่เปิดให้ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกวิธีล้างไตเอง เนื่องจากมีข้อจำกัดของศูนย์ฟอกไตเทียม รวมทั้งแพทย์และพยาบาลที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเพิ่มจำนวนของศูนย์ฟอกไตเทียมต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับ ดังนั้นนโยบาย PD First Policy จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป ซึ่งกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องโดยต้องรับการฟอกไตผ่านเครื่อง แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยเพื่อให้ผู้ป่วยรับการฟอกไตผ่านเครื่องได้

นอกจากนี้ 16 พฤษภาคม 2559 ยังมีความเห็นจาก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ได้ระบุถึงความล้มเหลวในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับ 2 ของกองทุนฯ ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับยังไม่ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั้งระบบ ปัจจัยสำคัญเกิดจากการเปิดให้ผู้ป่วยและแพทย์เป็นผู้เลือกวิธีการล้างไตเอง ซึ่งแพทย์และหน่วยบริการส่วนใหญ่จะเลือกล้างไตด้วยเครื่องให้กับผู้ป่วย เนื่องจากจะมีรายได้จากการเบิกจ่ายค่าบริการจากระบบมากกว่าการให้บริการล้างทางช่องท้อง จำนวนศูนย์บริการฟอกไตมีจำกัด และสภาพภูมิประเทศต่อการเข้าถึงที่ลำบาก ส่งผลให้อินโดนีเซียหันมาเริ่มต้นใช้นโยบาย PD First Policy เช่นเดียวกับไทย เนื่องจากเป็นทางรอดเดียวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังไทยได้ดำเนินมาถูกทางแล้ว

จากข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดข้างต้นนี้ น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นที่ไทยต้องดำเนินนโยบาย PD First Policy หากผู้เห็นค้านจะเปิดใจรับฟัง นอกจากไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยแล้ว แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นการดำเนินนโยบายโดยบอร์ด สปสช. ที่คำนึงถึงการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นสำคัญ บนพื้นฐานของการมีจริยธรรมและบริหารภายใต้งบประมาณ บุคลากรทางการแพทย์ และศูนย์บริการฟอกไตที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในอนาคตผู้ป่วยไตวายเรื้องรังยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากผู้ป่วยเบาหวานและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น