xs
xsm
sm
md
lg

บ.ยาสูบโหมทำตลาดเยาวชน ทำเด็กไทยติดบุหรี่กว่า 3 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เยาวชนไทยสูบบุหรี่กว่า 300,000 คน เริ่มสูบครั้งแรกอายุ 15 - 17 ปี  แฉ บ.บุหรี่ อาศัยช่องว่าง กม. ทำกลยุทธ์การโฆษณา / การตลาดกับเยาวชน จี้รัฐรู้เท่าทัน ผลวิจัยชัด หัวหน้าครอบครัวไม่สูบบุหรี่ เยาวชนเลิกสูบได้สำเร็จสูง 19 เท่า

น.ส.ศรัณญา เบญจกุล นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติซึ่งตรงกับ 20 กันยายน ของทุกปี ปัจจุบันสถานการณ์สูบบุหรี่ของเยาวชนที่มีอายุ 15 - 18 ปี ในประเทศไทยแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ โดยผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 และ 2558 ระบุว่า มีเยาวชนสูบบุหรี่ ลดลง จากร้อยละ 8.4 (337,679 คน) ในปี 2556 เหลือ ร้อยละ 7.9 (312,610 คน) ในปี 2558 โดย 5 ใน 10 ของนักสูบหน้าใหม่ เริ่มต้นสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 - 17 ปี โดยเยาวชนในกลุ่มนี้ คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ นิยมสูบบุหรี่ซองที่วางจำหน่ายตามร้านค้า เพราะเข้าถึงง่าย ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการป้องกันเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องรู้เท่าทัน และต้องอาศัยกฎหมายใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่หนึ่งในประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมที่สำคัญ คือ มีการเพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงยาสูบของเยาวชน

“ปัจจุบันบริษัทบุหรี่อาศัยช่องว่างกฎหมาย ทำกลยุทธ์การโฆษณา/การตลาด ณ จุดขายหลากหลายรูปแบบ เมื่อเยาวชนยิ่งเห็นก็ยิ่งคุ้นชินว่าบุหรี่เป็นสินค้าปกติ ยุติความลังเล และเกิดการตัดสินใจซื้อ  อีกทั้ง เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบุหรี่ราคาถูก โดยติดราคาให้เห็นชัดเจน จึงเป็นการชี้ชวนให้ตัดสินใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะสามารถ “ซื้อเป็นมวน” พร้อมอำนวยความสะดวก มีซองรูปแบบต่าง ๆ ให้บรรจุ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งซอง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่เย้ายวนใจ มีการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบและอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการสูบแบบออนไลน์ กลยุทธ์เหล่านี้ของบริษัทบุหรี่ล้วนเปิดช่องให้เยาวชนเข้าถึงยาสูบ/บุหรี่ได้ง่าย” น.ส.ศรัณญา กล่าว

น.ส.ศรัณญา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางป้องกันเยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่  จำเป็นต้องมีการทำงานในทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องใน “แบบจำลองเชิงนิเวศวิทยา (Ecological Model) อย่างครบวงจร ประกอบด้วย 1. เยาวชน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่วงในสุด โดยต้องเสริมด้านความรู้และกิจกรรม เพื่อให้รู้ทันโทษพิษภัยบุหรี่ และกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ รวมถึงสร้างเสริมให้มีทักษะชีวิตในการปฏิเสธบุหรี่  2. ระหว่างบุคคล คือกลุ่มบุคคลเครือญาติที่แวดล้อมเยาวชนในบ้าน จากการวิจัยที่ผ่านมา พบว่า บ้านที่หัวหน้าครอบครัวไม่สูบบุหรี่ มีโอกาสที่เยาวชนสามารถเลิกสูบได้สำเร็จ สูงถึง 19 เท่า รวมทั้งกลุ่มครูในโรงเรียนควรทำตัวเป็นแบบอย่างไม่สูบบุหรี่  3. องค์กร ได้แก่ บ้าน โรงเรียน วัด สถาบันกวดวิชา ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ สร้างให้เยาวชนเกิดความซึมซับวัฒนธรรมว่า พื้นที่ใดห้ามสูบบุหรี่ 4. ชุมชน มีเครือข่ายเฝ้าระวังไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่ ร้านค้าในชุมชนต้องร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่จำหน่ายบุหรี่ให้เด็กวัยต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น  และ 5. นโยบายสาธารณะ รัฐบาลหรือองค์กรของรัฐจัดทำขึ้น เช่น การออกกฎหมาย (ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่) / การบังคับใช้กฎหมาย และประชาชนไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศนโยบายระดับประเทศ ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ กฎกติกาภายในส่วนงาน หรือชุมชน เพื่อให้สอดคล้องและหนุนเสริมนโยบายระดับประเทศ

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้เยาวชน และประชาชนไทยทุกคน เลิกสูบบุหรี่ภายใต้ “โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขาภาพ (สสส.) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ในปี 2559 และเนื่องในโอกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา ในปี 2560 และ ๙๑ พรรษา ในปี 2561  สนใจติดต่อโครงการที่ www.quitforking.com หรือ สมัครได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้านทั่วประเทศ) 

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น