xs
xsm
sm
md
lg

คึกคัก! สกว.จับมือกับ ม.อ.ปัตตานี ฉลอง 1 ทศวรรษ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 10

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกว. ร่วมกับคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดงานประชุม เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “คลุมเครือ เคลือบแคลง เส้นแบ่ง และพรมแดนในมนุษยศาสตร์” เป็นการฉลอง 1 ทศวรรษ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ณ โรงแรมราชมังคลา สงขลา เมอร์เมด อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 19-20 กันยายน 2559

วันนี้ (8 ก.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการ ทั้งเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่การพัฒนา และสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านการพัฒนาแก่พื้นที่ ล่าสุด จับมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “คลุมเครือ เคลือบแคลง เส้นแบ่ง และพรมแดนในมนุษยศาสตร์” ซึ่งนับว่าสอดคล้องต่อสภาพการณ์ทางสังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประเด็นเรื่องเส้นแบ่งและพรมแดนทั้งทางกายภาพ ความรู้ และจินตนาการ เป็นประเด็นควรแก่การตอบโจทย์ และแสวงหาคำตอบ

รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระบุว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจาก สกว. ตั้งแต่การให้ทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และคณะมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการเวทีวิจัยนี้ถือเป็นมหาวิทยาลัยในภาคใต้แห่งที่ 2 ที่ได้รับความร่วมมือจาก สกว. ทำให้ได้รับการตอบรับจากนักวิชาการในพื้นที่ และนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มากมาย

“ม.อ.ปัตตานี ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดน ประเด็นความคลุมเครือ พื้นที่ และพรมแดน จึงเหมือนเป็นหัวใจของที่นี่ คนชายแดนภาคใต้ข้ามไปข้ามมาระหว่างไทย และมาเลย์ คนชายแดนจำนวนหนึ่งมีอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหวระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นมาเลย์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เขาจะต้องเผชิญ” รศ.ดร.ปริศวร์กล่าว และว่า มีนักวิชาการ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่งบทความเข้าร่วมในเวทีวิจัยครั้งนี้เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความคึกคักในวงวิชาการมนุษยศาสตร์ ทั้งนี้ บทความทั้งหมดได้รับการคัดเลือก และพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งได้มาทั้งหมด 36 บทความ ที่เข้ากับประเด็นเส้นแบ่ง ความเคลือบแคลง และความคลุมเครือ เช่น เรื่อง การสร้างรัฐประชาชาติกับการสำรวจและการทำแผนที่หมู่บ้านชาวเขาในยุคสงครามเย็น, เขตแดน-รัฐ-ชาติ-และความเลื่อนไหวของอัตลักษณ์ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก, อัตลักษณ์แบบผสมผสานกลายพันธุ์ของผู้หญิงมุสลิมปัตตานี “สามรุ่น” ในระบบการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 2500-2525, การสร้างอาณานิคมภายในของสยามในดินแดนล้านนา : บทวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม, กล่อมครรภ์ : เมื่อครูเหลี่ยมฉีกยันต์กันผี เสนอเรื่องเพศและกามารมณ์กล่อมสังคมไทย, การศึกษาอิสลามในสามจังหวัดภาคใต้ : เวทีแห่งการปะทะสังสรรค์ระหว่างความรู้ ความเชื่อ อำนาจ และอุดมการณ์ เป็นต้น
 
 

 
“ความน่าสนใจของการจัดโครงการในครั้งนี้อีกประการหนึ่งก็คือว่า เป็นการฉลองครบหนึ่งทศวรรษของการจัดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยพอดี ซึ่ง ศ.ดร.สุวรรณา จะนำเสวนาทบทวนการการสร้างเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยที่ดำเนินมาตลอดทศวรรษ รวมถึงแสดงทัศนะ และแนวโน้มของวงการวิจัยมนุษยศาสตร์ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษอีกด้วย ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง จากภาควิชาภาษาไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการและผู้ประสานงานจากคณะมนุษยศาสตร์

ทั้งนี้ ในงานยังมีการเสวนาโดยนักวิชาการชั้นนำของไทย เช่น ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์, ศ.ชวน เพชรแก้ว, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์, ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม, ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีปาฐกถาจากนักวิชาการต่างประเทศอย่าง Harish Trivedi จาก University of Delhi และ Arnika Fuhrmann จาก Cornell University และนักวิชาการนำเสนอบทความ เช่น ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, เชษฐา พวงหัตถ์, ผศ.ดร.เสาวณณิต จุลวงศ์, คงกฤช ไตรยวงค์, ผศ.ดร.ศรันย์ สมันตรัฐ เป็นต้น

โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 19-20 กันยายน 2559 ณ โรงแรมราชมังคลา สงขลา เมอร์เมด อ.เมือง จ.สงขลา สำหรับค่ำวันที่ 19 กันยายน จะมีการแสดงร้องเพลงลิเกร์มิวสิก และเพลงลิเกร์ฮูลู โดยเปาะเต๊ะ กูแบอีแก และคณะศิลปินชื่อดังของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และยืนยันสิทธิเพื่อรับหนังสือประกอบการสัมมนาฟรีได้ที่ http://huso.pn.psu.ac.th/husotrf10/index.php/regist
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น