xs
xsm
sm
md
lg

สมาธิสั้นทำอย่างไรดี / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันโรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่พบมากในเด็ก หากเด็กอายุห้าขวบไม่สามารถนั่งอยู่กับที่ได้ ชอบวิ่งไปโน่นมานี่อยู่ตลอดเวลาเมื่อไปโรงเรียน ผู้ปกครองอาจคิดในแง่บวกว่าลูกมีความกระตือรือร้นกระฉับกระเฉง โดยไม่คิดว่านี่เป็นอาการของเด็กที่มีสมาธิสั้น ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อได้ จึงทำให้ซุกซนมากและหุนหันพลันแล่น

โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการ ดังนี้ คือ ซนมาก ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หุนหันพลันแล่น และไม่มีสมาธิ หรืออาจจะมีแต่อยู่ในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น อาการทั้ง 3 ข้อไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครบทั้ง 3 ข้อ แต่อาจมีเพียงข้อใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1. ซนมาก เด็กจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชอบแสดงออก อยู่นิ่งไม่ได้ ยุกยิก ต้องขยับส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเสมอ

2. หุนหันพลันแล่น ไม่ชอบการรอคอย ต้องรีบพูดและรีบตอบในทันที ชอบพูดสวนและชอบแซงคิว

3. มีสมาธิในช่วงสั้น ๆ ฟังคำสั่งได้ไม่ครบ ไม่ชอบประโยคยาว ๆ รับรู้ได้แต่ไม่เต็มที่ ทำงานผิดพลาดบ่อย ของหายบ่อยเมื่อไปโรงเรียน เพราะจำไม่ได้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน

วิธีช่วยลูกสมาธิสั้นสามารถทำได้ดังนี้

1. บอกลูกตรง ๆ ถึงอาการของสมาธิสั้น การช่วยลูกโดยการพูดตรง ๆ กับลูกนั้น จะทำให้ลูกมีการปรับตัวได้ดีขึ้นในทางตรงกันข้ามผู้ปกครองบางคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริงกับลูก และบอกว่าการกินยาเป็นยาวิเศษ จะทำให้เรียนเก่ง สิ่งนั้นเป็นการสร้างความคิดที่ผิดๆให้กับลูก เด็กสมาธิสั้นไม่ใช่เด็กที่ไม่ฉลาด สามารถรู้ว่าว่ายาที่กินนั้นมีความหมายอะไร การมีสมาธิสั้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่เป็นเพราะความบกพร่องทางสมอง ที่ทำให้ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อหรือทำงานให้เสร็จลุล่วงไปได้ หรือไม่สามารถที่จะวางแผนในอนาคตได้ เมื่อพาลูกไปร้านอาหารลูกอาจจะวิ่งไปรอบ ๆ และไม่สามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะแปลกใจในคำตอบของลูก เมื่อลูกพูดว่าอย่ามองผมว่าเป็นคนซนมาก แต่ให้มองผมว่าผมเป็นเด็กที่ตื่นเต้นและพร้อมที่จะไปเผชิญกับโลกกว้างแห่งใหม่ เราไม่จำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายเสมอไปแต่ให้เรามองในแง่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องพูดความจริงและเผชิญกับความจริง เด็กจำเป็นต้องเข้าใจว่าเขาคือใครและกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อที่เขาจะสามารถควบคุมได้

2. อย่าให้ลูกสมาธิสั้นมีปัญหาเรื่องของบุคลิกภาพ เด็กที่มีสมาธิสั้นจะไม่มีความสม่ำเสมอเมื่อเปรียบเทียบ กับเด็กปกติ ที่สามารถมีสมาธิจดจ่อได้ อย่าคาดหวังความสม่ำเสมอจากเด็กสมาธิสั้น วันหนึ่งอาจจะกลับบ้านด้วยคะแนนเต็มในการทดสอบ อีกวันหนึ่งอาจจะกลับบ้านด้วยกันคะแนน 65 และอีกวันหนึ่ง อาจจะกลับมาด้วยคะแนน 70 คะแนน อีกวันอาจกลับมาด้วยคะแนน 95 คะแนนก็เป็นได้ คะแนนของการเรียนรู้จะขึ้น ๆ ลง ๆ ผู้ปกครองหลายท่านชอบพูดว่าเมื่อวานทำได้ดี แต่ทำไมวันนี้ทำไม่ได้เลย เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ฉลาดเขาจะรู้ว่าควรทำอะไร เพียงแต่ไม่มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่เขาทำ และหลายคนอาจไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้น

3. อย่าให้โรคสมาธิสั้นเป็นเหมือนข้อแก้ตัว การมีสมาธิสั้นอาจจะทำให้ยากในการทำงานต่าง ๆ แต่เด็กไม่ควรจะเรียนรู้ที่จะใช้เป็นข้อแก้ตัว ลูกควรจะเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ อยากให้โรคสมาธิสั้น เป็นสิ่งแก้ตัวสำหรับการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็ก ๆ หลายคนอาจจะพูดว่า ไม่ต้องทำการบ้านเพราะเขามีปัญหาในเรื่องของสมาธิ นั้นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำการบ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กควรเข้าใจว่า แม้ว่าการทำการบ้านอาจจะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเขาเพราะฉันมีสมาธิสั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำการบ้าน

4. เน้นถึงกฎระเบียบและความสม่ำเสมออย่างใจเย็น สำหรับเด็กสมาธิสั้นจำเป็นต้องพูดบ่อยครั้งและเขียนสิ่งที่เราคาดหวังสำหรับเด็ก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองสามารถจะติดชาร์ตถึงความรับผิดชอบของลูกที่จะทำในบ้าน กฎระเบียบต่าง ๆ การให้รางวัลสามารถทำได้ แต่ต้องทำในทันที เช่น เมื่อลูกทำเสร็จบอกว่าจะไปว่ายน้ำกัน เสริมแรงเลยทันที อย่าวางแผนล่วงหน้าเป็นปีเช่นบอกว่าถ้าถูกได้คะแนนดีจะซื้อจักรยานให้ลูกปีนี้ สำหรับเด็กสมาธิสั้นไม่สามารถรอคอยได้นานขนาดนั้น ผู้ปกครองต้องชัดเจนและทำอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาอย่างใจเย็นและชัดเจน หลีกเลี่ยงการลงโทษอย่างหนักหรือรุนแรงเมื่อผิดหวัง หรือโกรธลูก โรคสมาธิสั้นอาจเป็นพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว ดังนั้น ผู้ปกครองที่มีสมาธิสั้นอาจตะโกนหรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ปกติเมื่อเราลงวินัยกับลูก เราให้ลูกออกไปนั่งนิ่งๆ แต่ผู้ปกครองเองควรใช้เวลาในการออกไปนั่งนิ่ง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เราต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก

5. ช่วยให้ลูกค้นพบความสามารถและข้อดีในตัวลูก เด็กที่มีสมาธิสั้นมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กอื่นๆอยู่เสมอและทำให้มีความกดดัน คุณค่าในตัวเองลดน้อยลง ปัญหาเรื่องของคุณค่าในตัวเองจะเกิดขึ้นเมื่อลูกอายุประมาณ 8 ปี จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เด็กวัยรุ่นที่เป็นสมาธิสั้น มักจะพูดว่าอะไร ๆ ก็ไม่ถูกเสมอสำหรับตัวเอง อย่าพยายามทำเลยดีกว่า ดังนั้น จะมีความกดดันที่เกิดขึ้นกับเด็กสมาธิสั้นอยู่เสมอ และจะติดตัวเด็กไปจนโต ดังนั้น เราควรค้นหาข้อดีและความสามารถของลูก ให้กำลังใจและเสริมแรงในสิ่งที่ลูกสนใจ เช่น หากลูกสนใจเรื่องการออกกำลังกาย และสามารถทำได้ดีมากกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ให้เราเสริมแรงทันที ให้ลูกรู้จักข้อดีข้อด้อยของตัวเอง

6. อย่าปกป้องลูกมากเกินไป ผู้ปกครองส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นมักจะปกป้องลูก และไม่ให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองและมักจะไปแก้ปัญหากับลูกในทุก ๆ เรื่อง เราไม่ควรบอกลูกว่าควรทำอะไรแต่ให้ลูกคิดและหาทางออกด้วยตัวเอง ให้ลูกเลือกตัวเลือก เพราะเมื่อเขาเป็นวัยรุ่นเด็กต้องสามารถเลือกตัวเลือกได้ด้วยตัวเอง เราไม่สามารถไปช่วยแก้ปัญหาของลูกได้ตลอดเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่

เด็กที่มีสมาธิสั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความผิดของตัวเขาเอง แต่เป็นเพราะกลไกทางสมอง ดังนั้นผู้ปกครองควรให้กำลังใจเสริมแรงและไม่ควรที่จะให้ลูกติดอยู่กับสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่าให้ดูทีวีมากเกินไป เล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทั้งวัน เพราะจะทำให้ลูกมีสมาธิที่สั้นขึ้นกว่าเดิม ควรใช้เวลาในการออกกำลังกายกับลูก ออกไปท่องเที่ยวดูโลกกว้างด้วยกันกับลูก จะทำให้ลูกมีสมาธิมากยิ่งขึ้น ลูกสมาธิสั้นสามารถเป็นเด็กที่ฉลาดและเรียนรู้ได้ดี หากมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยและคอยช่วยชี้แนะแนวทาง เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น