xs
xsm
sm
md
lg

7 ข้อผิดพลาดที่พ่อแม่ทำกับลูก / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การที่ผู้ปกครองส่งเสริมให้ลูกมีชีวิตที่ดีและมีความสุขสมวัยในช่วงวัยเรียนของลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาลูกให้มีความคิดทางบวก รู้จักคุณค่าในตัวเอง รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ที่ดี ซึ่งเป็นรากฐานที่ต้องสร้างกันในช่วงวัยเรียนนี้ แต่เนื่องจากเด็ก ๆ แต่ละคนไม่ได้มีคู่มือการเลี้ยงดูที่ยังดูที่เหมือนกัน ดังนั้น หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาจทำในสิ่งที่ผิดพลาดกับลูกได้ในหัวข้อต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ไม่ยอมรับว่าลูกมีน้ำหนักเกิน จากการศึกษาของคุณหมอเด็กในโรงพยาบาลเด็กที่รัฐมิชิแกน พบว่าปัญหาของโรคอ้วนในเด็กมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าลูกเป็นโรคอ้วน มักจะมีข้อแก้ตัวว่าลูกเป็นคนที่มีโครงสร้างกระดูกใหญ่และมีรูปร่างใหญ่ เมื่อเด็กโตขึ้นอาการอ้วนเหล่านี้จะหายไปเอง การไม่ยอมรับถึงภาวะอ้วนของลูกเป็นความผิดพลาดที่นำมาถึงปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเด็กมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ไม่ได้หมายความว่าโรคอ้วนจะหายไป สิ่งที่สามารถแก้ปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็กได้ คือ การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการฝึกตั้งแต่ในวัยเด็ก ผู้ปกครองหลายท่านคิดว่าการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเส้นเลือด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ในความจริงในวัยเด็กมีโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆเหล่านี้ได้ด้วย ดังนั้น เมื่อเด็ก ๆ เริ่มมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน อย่านิ่งนอนใจ และไม่ควรปล่อยปละละเลยโดยเด็ดขาด

2. ใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับลูก เมื่อพูดกับลูกเพื่อต้องการเปลี่ยนให้ลูกมีพฤติกรรมทึ่ดีขึ้น หลายครั้งผู้ปกครองใช้วิธีด่าว่าวิพากษ์วิจารณ์หรือประชดประชันแทนที่จะเสริมแรง หรือให้กำลังใจ เราควรระมัดระวังคำพูดเพราะคำพูดนั้นจะฝังอยู่ในใจลูกและทำให้ลูกเกิดบาดแผลในใจ ให้เราชมเชย และให้กำลังใจลูกในวัยเรียนบ่อย ๆ ลูกจะมีความสุขและมีความพยายามที่จะทำสิ่งดีใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น เมื่อลูกเลือกเล่นกีฬาที่ไม่เคยทำมาก่อน ให้เราแสดงความภาคภูมิใจในตัวลูกให้กำลังใจและชมเชยนั้น  ชมที่เขามีความพยายาม แต่ไม่ควรชมเชยมากเกินไปจนพร่ำเพรื่อ เช่น พูดว่าเก่งจังเลย ทำได้ดีกว่าเพื่อน ๆ อีก เพราะคำชมแบบนีเป็นข้อเสียและเป็นอันตรายกับลูกมากกว่าเป็นผลดี ดังนั้น คำชมจะต้องเป็นคำชมที่มีความหมาย เช่นพูดว่าแม่ขอบใจลูกมากนะที่ทำความสะอาดห้องน้ำให้แม่ รู้สึกว่าลูกช่วยแม่ได้มากนะลูกมีความรับผิดชอบขึ้นกว่าเดิมเลยทีเดียว เป็นต้น

3. ไม่ทำตามคำที่พูด เด็ก ๆ เรียนรู้จากสิ่งที่เห็น สิ่งที่เราทำมากกว่าคำพูดของเรา หากเราพูดแล้วเราไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราพูด สิ่งนั้นจะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับลูก เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเพื่อลูกจะได้ทำตามเราได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องจากการใช้ชีวิตจริง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า หรือการติดยา การเล่นการพนัน แม้กระทั่งการควบคุมอารมณ์หรือความเครียด สิ่งที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น คนในครอบครัว หรือคนในชุมชน ลูกจะดูเราเป็นตัวอย่าง

4. รอนานเกินไปที่จะพูดคุยกับลูก ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุประมาณเก้าปี เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราจะเริ่มคุยกับลูกถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ผู้ปกครองบางท่าน รอนานเกินไปที่จะพูดคุยกับลูก และทำให้ลูกไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรก ทำให้ลูกไม่เข้าใจและสับสน เมื่อลูกอายุ 10 - 11 ปี เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะนั่งคุยกับลูกสาวหรือลูกชาย สนทนาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น การมีร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ลูกผู้หญิงเราจะคุยถึงเรื่องของการมีประจำเดือน การวางตัวกับเพศตรงข้าม การเริ่มมีหน้าอก เป็นต้น ลูกผู้ชายก็เช่นเดียวกัน คุยถึงร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป การที่เสียงแตกหนุ่ม การเริ่มต้นอาจเป็นการยาก แต่หลังจากนั้นจะง่ายขึ้น พ่อแม่บางคนคิดว่าเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะให้การศึกษา และคาดหวังว่าลูกคงเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่ในความจริงความรู้ในเรื่องเหล่านี้ต้องออกมาจากคุณพ่อคุณแม่มากกว่า

5. ไม่ไปตรวจสุขภาพตามนัดกับแพทย์ประจำปี การตรวจสุขภาพประจำปีของลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ ลูกของเราควรได้รับการตรวจเช็กสุขภาพทุกปี การพูดคุยกับหมอจะทำให้เราทราบถึงการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของลูก ลูกจะได้ทราบถึงการพัฒนาการทางด้านของความสูงและน้ำหนักอย่างเหมาะสม การรับประทานอาหารที่ถูกต้องและการออกกำลังกาย เด็กในวัยเรียนควรได้รับแคลเซียมที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม

6. ลูกถูกทำร้ายแต่เรามองข้ามไป การถูกทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือทางด้านจิตใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ กับเด็กในวัยเรียน หากเราสังเกตว่าลูกมีความเครียดหลังจากกลับมาจากโรงเรียน  มีรอยฟกช้ำนั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่าลูกอาจได้รับการทำร้ายที่โรงเรียน สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ ปกติลูกรักที่จะไปโรงเรียน แต่อยู่ดี ๆ ลูกเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน เริ่มกินอาหารน้อยลงหรือกินมากกว่าปกติมาก ดังนั้นผู้ปกครองควรใส่ใจในสัญญาณที่เกิดขึ้นดังกล่าว การถูกทำร้ายอาจจะเป็นการทำร้ายทางด้านของสื่ออินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ การส่งข้อความหรือการทำร้ายจิตใจต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ปกครองควรระมัดระวังเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ในช่วงก่อนวัยรุ่น ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ ควรดูแล Facebook หรือข้อความทางอีเมล ในห้องแชทรูมต่างๆของลูกและกำจัดสื่อออนไลน์ที่เป็นโทษกับลูกออกไป

7. จัดตารางเรียน หรือตารางกิจกรรมที่มากเกินไปสำหรับลูก การจัดให้ลูกทำกิจกรรมที่มากเกินไปมีผลเสียต่อลูกด้วยยกตัวอย่างเช่นลูกในชั้นประถมตอนปลาย หรือวัยเรียนตอนกลางและเริ่มมีการบ้าน ดังนั้น การให้ลูกทำการบ้านที่มากเกินไปและจัดกิจกรรมเสริมเพิ่มขึ้นอีก อีกทั้งจัดตารางเวลาต่างๆให้เด็กทำกิจกรรมที่มากเกินไปจะทำให้เด็กทนไม่ไหวและขาดทักษะทางด้านสังคม และจะเบื่อหน่ายในการเรียนในที่สุด

การเรียนรู้และเข้าใจถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูกจะทำให้เราสามารถเสริมสร้างลูกให้มีความสุขภาพที่ดีทั้งใจและกาย และเจริญเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมได้ เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น