xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการหนุนเก็บเงินสมทบวัยทำงาน ตั้งกองทุนชราภาพดูแลผู้ป่วยระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการแนะตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว ให้ทุกภาคส่วนในสังคม เข้ามารับผิดชอบ ชงเก็บเงินสมทบวัยทำงาน 40 - 65 หนุนท้องถิ่นเอกชนเข้าร่วม รัฐต้องออกกฎหมายตั้ง คกก. ดูแล ด้านแรงงานอาวุโส แนะเก็บภาษีสินค้าบาปเพิ่มขึ้นมาตั้งกองทุน 

วันนี้ (2 ต.ค.) ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเร่งศึกษาตั้งกองทุนชราภาพ โดยคาดว่า จะมีการใช้ภาษีบาปจ่ายตรงให้กับกองทุนดังกล่าว เพื่อใช้ดำเนินการ ว่า การดูแลผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาในระยะยาว และจำเป็นต้องมีปัจจัยในการรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาระการดูแลของครอบครัวเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า แต่ละครอบครัวมีศักยภาพในการดูแลต่างกัน ซึ่งต้องช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาระของรัฐเพียงอย่างเดียวในอนาคต ตอนนี้ผู้สูงอายุมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ความต้องการดูแลเพิ่มขึ้นตามมา โดยในปี 2560 คาดว่า จำนวนผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง รวมกันกว่า 3.7 แสนคน

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้านติดเตียงทั้งประเทศปี 2560 นอกเหนือจากที่รัฐบาลให้การดูแลอยู่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าอุปกรณ์ เช่น เตียงผู้ป่วย เบาะ รถเข็น ผ้าอ้อม วัสดุสิ้นเปลือง และค่าจัดการผู้ดูแล ซึ่งรวมทั้งค่าเดินทางผู้ดูแล รวมกันแล้วเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงมากเรา จึงออกแบบให้ช่วยกันรับผิดชอบ และหากให้รัฐดำเนินการ หรือเข้ามาดูแลทั้งหมดก็คงลำบาก คณะวิจัยจึงออกแบบให้สังคมที่ยังไม่ป่วยช่วยดูแล และให้ผู้ป่วยและท้องถิ่นช่วยกันคนละครึ่งโดย  คือ 1. รัฐจะต้องจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว โดยมีค่าบริหารจัดการเกิดขึ้น ซึ่งงบประมาณด้านสาธารณสุข งบประมาณเยี่ยมบ้านก็ให้มีเช่นเดิม 2. ค่าอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางของผู้จัดการดูแล รัฐบาล และประชาชน อายุ 40 - 65 ปี เพราะพวกเขาก็ต้องเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุเช่นเดียวกัน ช่วยสมทบรับผิดชอบ จ่ายเงินสมทบกองทุน โดยการร่วมจ่ายเป็นปี เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 500 บาทต่อปี 3. ค่าผู้ดูแลและค่าการเดินทางผู้ดูแล ให้ผู้ใช้บริการรับผิดชอบและท้องถิ่น ร่วมกันจ่ายในสัดส่วนที่เท่ากัน เพราะขณะนี้ เงินในส่วนของท้องถิ่นได้นำเงินพาผู้สูงอายุไปเที่ยว ซึ่งควรนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการ ส่วนเอกชน ก็ควรเข้ามาช่วยดำเนินการ ทั้งการบริจาค ทั้งในกองทุน หรือในส่วนท้องถิ่น

“ทั้งหมดคือการดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้านติดเตียง ให้มีระบบ ในการเข้ามาดูแลร่วมกันทั้งสังคม ทุกภาคส่วน โดยไม่ตกเป็นภาระของรัฐมาก เพียงแค่รัฐจะต้องออกกฎหมาย หรือมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล เช่น ในเรื่องการให้บริการของเอกชนผู้สูงอายุต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นเหมือนในปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ” ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าว

ด้าน นางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ในฐานะผู้สูงอายุ กล่าวว่า ถือเป็นแนวคิดที่ดีเพราะกองทุนนี้ควรมีมานานแล้ว รัฐบาลต้องเดินหน้าเป็นคนนำร่องจัดตั้งกองทุนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ที่สำคัญ กองทุนนี้ต้องมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อนลอย อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลมีแนวคิดในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าและต้องสนับสนุน ซึ่งควรทำให้เป็นจริงให้ได้ในรัฐบาลนี้ โดยควรใช้การเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าบาปนำมาตั้งกองทุนนี้ ไม่ใช่การดึงงบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ ที่มีภารกิจของตัวเองอยู่แล้ว ทั้ง ไทยพีบีเอส สสส. หรือกองทุนกีฬา ที่สำคัญ การเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ยังเป็นผลดีต่อภาพรวมของการแก้ปัญหา ทั้งเหล้า บุหรี่ หรืออาจรวมไปถึงสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เพราะงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า การขึ้นภาษีคือหนึ่งในมาตรการที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาสินค้าทำลายสุขภาพ และสร้างผลกระทบทางสังคม กลับกันถ้าไปแบ่ง หรือไปลดเงินกองทุนที่ทำหน้าที่ลดปัญหา ก็คือ การไปสนับสนุนสินค้าทำลายสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ในทางอ้อมนั่นเอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น