ผู้รู้ย้ำโขนเป็นศิลปะชั้นสูงแตะต้องได้ ทุกคนมีสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ ขอให้ถูกกาลเทศะ เข้าใจบริบทเนื้องาน ผู้แสดงควรมีจรรยาบรรณ เหตุโขนมีจารีตของนาฏศิลป์ไทย ยอมรับค่อนข้างหวง แต่ไม่ใช่หวงจนติดอยู่ข้างฝาแล้วดึงออกมาไม่ได้ แนะดูหนัง “นิ้วเพ็ชร” แบบอย่างโขน ด้าน “อภินันท์” ลั่นส่งผู้รู้จากกรมศิลป์ - สบศ. ร่วมพิจารณา MV ใหม่
สืบเนื่องกรณีกระแสวิจารณ์ MV “เที่ยวไทยมีเฮ” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ใช้โขน ประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนมาเที่ยวประเทศนั้น วันนี้ (23 ก.ย.) ที่โรงละครวังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ได้เชิญศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์โขน มาร่วมเสวนา หัวข้อ “โขน นาฏกรรมชั้นสูง องค์ความรู้คู่วัฒนธรรมชาติ” โดย นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้เชี่ยวชาญ สาขาศิลปะการแสดง ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สบศ. และผู้จัดทำบทโขนพระราชทาน กล่าวว่า การแสดงโขนเป็นศิลปะชั้นสูง ตามประวัติศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัตนโกสินทร์ โขนนับเป็นศิลปะการแสดงที่มีจารีต ประเพณี นอกจากนี้ ในการแสดงก็มีฐานานุศักดิ์ของตัวละคร ตั้งแต่การแต่งกาย ดนตรี เพลง ท่ารำ และการเรียนโขนไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลาหลายปีกว่าผู้เรียนจะมีทักษะ อีกทั้งผู้เรียนต้องมีความจำที่ดี ซึ่งไม่ใช่ใครก็เรียนได้
“เห็น MV ครั้งแรกรู้สึกตลก ผมไม่ใช่คนสมัยเก่าที่ไม่สามารถรับอะไรใหม่ ๆ ได้ เมื่อดูแล้วก็รับรู้ได้ว่าคนทำไม่เข้าใจในบริบทศิลปวัฒนธรรมอย่างท่องแท้ ถือเป็นสิ่งน่ากลัวและค่อนข้างสงสาร เพราะการนำไปใช้โดยไม่เข้าใจจะเกิดผลและเป็นกระแสตามมาแบบที่เกิดขึ้น คือ ผู้รู้จริงออกมาต่อต้าน อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นครูสอนด้านจารีตศิลปวัฒนธรรมไทยของ สบศ. ไม่ได้สอนให้เด็กเชื่อในเชิงไสยศาสตร์ว่าหากทำไม่ถูกต้องแล้วครูบาอาจารย์จะลงโทษ เพราะผมไม่เป็นผู้ให้คุณให้โทษกับใคร อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากว่าหากจะมีการนำศิลปวัฒนธรรมไทยไปใช้ในเรื่องใดขอให้ทำการศึกษาหรือปรึกษาผู้รู้จริงก่อนเพื่อไม่ให้ส่งผลที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นตามมา
นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงละครนาง (นาฏศิลป์ไทย - ละคร) กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่า ไม่ใช่พวกนักอนุรักษ์หัวโบราณ แต่เป็นนักสร้างสรรค์ที่อยู่ในจารีตของความเป็นนาฏศิลป์ โขนถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่แตะต้องได้ รวมวรรณกรรม วรรณคดี เครื่องแต่งกาย ดนตรี และการขับร้อง เข้าไว้ด้วยกันไม่เหมือนศิลปะรูปแบบอื่น และกว่าจะเป็นครูนาฏศิลป์ได้ เป็นเรื่องยากลำบาก จึงทำให้ค่อนข้างหวง อย่างไรก็ตาม การหวงนั้นไม่ใช่หวงจนติดอยู่ข้างฝาแล้วดึงออกมาไม่ได้ ซึ่งต้องมองให้ลึกมองให้ถูก และในอดีตเคยมีการทำภาพยนตร์เกี่ยวกับโขนมาแล้วซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เรื่องนิ้วเพชร จึงอยากให้ไปหาศึกษาดู และพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะมีการผลิตงานเกี่ยวกับโขนขึ้นมาอีก
ขณะที่ นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าว ทุกคนทุกอาชีพย่อมมีจรรยาบรรณในตัวเองทั้งนั้น แต่ที่ต้องมีให้มาก คือ จิตสำนึกในการนำศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยไปใช้ต้องให้อยู่ในความเหมาะสม และรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สบศ. กล่าวว่า โขนเป็นมรดกชาติ คนไทยทุกคนมีสิทธิจับต้องได้ทั้งนั้น เพียงแต่คุณเอาไปใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ถ้าไม่เข้าใจให้ปรึกษาผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็น สบศ. กรมศิลปากร หรือ กระทรวงวัฒนธรรม มีผู้รู้หลายท่าน ให้ความรู้ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโขน เพียงแต่คุณต้องรู้กาลเทศะในการใช้ สิ่งที่ตามต่อมา คือ ไม่รู้แล้วคุณทำ ก็เหมือนดาบสองคม ทำออกมาแล้ว สบศ. กรมศิลป์ วธ. เห็นว่าผิด ไม่ควร ไม่ถูกต้อง แล้วไม่ออกมาปกป้องก็จะว่าไม่ออกมาปกป้อง ขณะเดียวกัน พอเราออกมาว่าไม่ควร ก็ของเราอนุรักษ์ โบราณ ไดโนเสาร์ ส่วนตัวผมว่าไม่ใช่ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะต้องมีจรรยาบรรณกันบ้าง เรามีจรรยาบรรณ มีจารีต โขนไม่ใช่เต้นเท่านั้น ยังมีพิธีกรรมหลายอย่างที่ไม่เห็นอีกมาก มีไหว้ครู หลังการแสดงยังมีพิธีสมาลาโทษ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ปลูกฝังกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รุ่นต่อรุ่น ซึ่งเหล่านี้จึงทำให้มรดกของชาติ โขนอยู่ได้ ขอสรุปสั้นว่า เอาไปใช้ได้แต่ต้องรู้กาลเทศะ ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ วิ่งเข้ามาถามคงไม่ลำบากจนเกินไป
“จากการดู MV เที่ยวไทยมีเฮ ความยาว 4 นาทีนั้น ส่วนตัวมีจุดที่พิจารณาผ่านเพียง 2 จุด เสาชิงช้า กับวัดร่องขุ่น นอกนั้นต้องต้องปรับแก้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สบศ. ยังไม่ได้ส่งผู้รู้ไปร่วมพิจารณาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงวัฒนธรรม”
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนจะทำหนังสือมอบหมายให้กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ส่งผู้รู้ไปร่วมพิจารณาการตัดต่อ MV เที่ยวไทยมีเฮ ที่จะมีการตัดต่อใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายเจตนาดี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่