xs
xsm
sm
md
lg

“ครูแท้แพ้ไม่เป็น” เสียงจากครูเรฟสู่การปฏิรูปครู /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ใครเคยอ่านหนังสือเรื่อง Teach Like Your Hair’s On Fire : Methods and Madness inside Room 56 (ชื่อภาษาไทยว่า “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง 56) เขียนโดย ครูเรฟ เอสควิท คงจะนึกถึงเรื่องราวลูกบ้าและกลเม็ดของครูเรฟได้เป็นอย่างดี

ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ยกให้เป็นหนังสือปลุกกระแสการปฏิรูป วิธีการจัดการศึกษาของเด็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นหนังสือ bestseller ในปี 2007

และในปีนี้ ครูเรฟ เอสควิท ได้ออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า Real Talk for Real Teachers หรือ “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดการแปลและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มสวยงาม โดยมีการจัดงานเสวนาทางวิชาการเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล

หนังสือเรื่อง “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” มีเนื้อหาที่ครูเรฟถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นครูมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนในการจุดประกายแนวความคิดและพัฒนาการเรียนการสอนของคุณครูและผู้ที่สนใจได้ใช้ประโยชน์จากเปลี่ยนประสบการณ์อุปสรรค ความล้มเหลว และเทคนิคการทำงานของครูที่ทำให้ก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ เพื่อลูกศิษย์

“การเป็นครูนับวันจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งปัญหาครอบครัว ความยากจน หรือเทคโนโลยีที่ดึงความสนใจลูกศิษย์ไปจากการเรียน คุณมักพบว่านักเรียนถูกส่งมาโรงเรียนโดยที่พวกเขาไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ และเมื่อมีเหตุผิดพลาดในห้องเรียน พวกเรามักถูกตำหนิกับทุกเรื่อง ครูดี ๆ ที่ผมรู้จักบางครั้งก็พร้อมที่จะลาออก แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังสู้ต่อ และนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นครูที่ดีได้ การอุทิศและทุ่มเทต่อศิษย์ยังเป็นรูปแบบที่ผมยึดถือปฏิบัติในห้องเรียนของผม มีคนถามผมว่า ทำไมลูกศิษย์ของผมถึงดูตั้งใจเรียน นั่นเพราะผมใช้คุณธรรม 6 ระดับในห้องเรียน และผลักดันให้นักเรียนพัฒนาไปให้สูง...

“ระดับที่ 1 เด็กตั้งใจเรียนเพราะไม่อยากมีปัญหา ระดับที่ 2 เรียนเพราะอยากได้รางวัล เพราะเป็นการติดสินบน ระดับที่ 3 เรียนเพื่ออยากเอาใจครู พ่อแม่ ระดับที่ 4 เรียนเพราะปฏิบัติตามกฎ ระดับที่ 5 เรียนเพราะเกรงใจคนอื่น และระดับที่ 6 เรียนเพราะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองยึดถือ นอกจากนี้ คุณต้องประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีของลูกศิษย์ตลอดเวลา ฉะนั้น การเป็นครูที่ดี คุณไม่สามารถถอดใจในการช่วยเหลือลูกศิษย์ได้ตลอดชีวิต”

ครูเรฟเน้นเรื่องการสอนทักษะชีวิตให้กับเด็ก เขาเล่าว่าถ้ามีใครมาถามว่าคุณเป็นครูสอนอะไร เขาจะไม่ตอบว่าสอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิชาภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่ผมจะตอบว่าผมเป็นครูสอนนักเรียน สอนชีวิต ไม่ใช่สอนวิชา สำหรับเขาเรื่องเกรดเฉลี่ยของเด็กไม่สำคัญ เรื่องการแข่งขันไม่สำคัญ แต่เขาเน้นเรื่องการเป็นครูที่ดีจากเนื้อแท้ การเป็นครูที่ดีต้องไม่ท้อและไม่ยอมแพ้ และต้องสอนให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีความรับผิดชอบและมีคุณธรรมที่ดี

จากประสบการณ์ของครูเรฟ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน มีครูดี ๆ คนแล้วคนเล่าถูกขัดขวางจากหน่วยเหนือ ซึ่งน่าจะหมายถึงระดับนโยบายหรือผู้บังคับบัญชา ที่ทำให้เขาก็จำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เขาจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเพื่อปกป้องตัวเขาเอง เพราะการพัฒนาเด็กกับการทำตามกฎระเบียบเพื่อความมั่นคงในหน้าที่ของฝ่ายบริหารเป็นคนละเรื่อง เป็นสภาพที่ ‘ครูแท้’ ต้องเผชิญ และต้องอดทน เช่นเดียวกับเรื่องการประเมินที่ครูเรฟเปรียบการประเมินว่า เป็นซาตาน เพราะฝ่ายบริหารการศึกษาของสหรัฐตีความเป้าหมายของการศึกษาที่ไปเน้นที่ผลการประเมิน แทนที่จะมุ่งสู่การเรียนรู้ของศิษย์

นอกจากนี้ ครูเรฟยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับเชิญและเดินทางไปประเทศจีนในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแกนนำ รวมถึงการสาธิตการสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียน โดยมีผู้ปกครองเข้าร่วมสังเกตการณ์

มีบทเรียนการทำงานจากประเทศจีนแก่ครูไทยใน 4 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง ครูจีนเป็นครูที่มีการศึกษาดี เป็นมืออาชีพและมีความรู้เชิงลึกในวิชาที่สอน
สอง การจัดการศึกษาที่ดีต้องพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา
สาม การทดสอบเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การวัดประเมินผลนักเรียนที่ควรจะเป็น คือ การติดตามดูเด็กในระยะ 10 ปี หลังจากนั้นว่าเกิดอะไรกับพวกเขา
สี่ สิ่งที่ขาดไปจากห้องเรียนทั้งในไทย ในจีนและในสหรัฐอเมริกาคือ การสอนให้นักเรียนทำดีเพราะเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เพราะคิดว่าดี หรือเพราะครูบอก รวมถึงการหล่อหลอมให้นักเรียนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ระหว่างที่ฟังครูเรฟไป ก็คิดถึงโครงสร้างการศึกษาในบ้านเราไปด้วย คิดถึงคุณครูไทยในบ้านเราที่ต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา ไม่ใช่ปัญหาแค่หน่วยเหนือเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอีกมากมายที่เป็นอุปสรรคทำให้ครูไทยยังไม่สามารถคิดนอกกรอบ หรือมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิชาชีวิตลูกศิษย์ได้มากกว่าแค่วิชาการ

แม้จะอยากมีครูเรฟบ้างในเมืองไทย แต่ด้วยบริบทของสังคมไทย บ้านเราจำเป็นต้องจุดประกายการปฏิรูปด้วยคนในบ้านเรา โดยคนไทย เพื่อลูกหลานคนไทย

การปฏิรูปการศึกษาต้องไม่ใช่แค่การปรับแก้โครงสร้างองค์กร

แต่ต้องสร้าง “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” ขึ้นมาให้ทั่วแผ่นดิน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น