xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเคาะขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ปี 60 อ้างปรับสูตรคำนวณใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คสรท. ร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 60 เท่ากันทั่วประเทศที่ 360 บาท ด้านบอร์ดค่าจ้างเลื่อนเคาะปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” อ้างขอทำสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงแบบกลุ่มจังหวัด 1 เดือน ยันไม่ขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ยันไม่ใช่การเตะถ่วง

หลังจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัด มีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 ภาพรวมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 4 - 60 บาทใน 13 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร ภูเก็ต กระบี่ เพชรบูรณ์ สกลนคร และ นราธิวาส ส่วนอีก 64 จังหวัดที่เหลือ ไม่เสนอขอปรับนั้น

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน ก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ซึ่งมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเป็นประธาน ได้มีกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธาน คสรท. พร้อมผู้แทนเข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 360 บาท โดยมี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแทน โดย นายชาลี กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างใน 13 จังหวัด จำนวน 4 - 60 บาท ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ จึงเสนอขอให้มีการปรับขึ้นเท่ากันในทุกจังหวัด ส่วนมติบอร์ดค่าจ้างจะเป็นอย่างไร จะมีการหารือกันในกลุ่มกันต่อไป

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ซึ่งจะมีการปรับแน่นอนภายในวันที่ 1 ม.ค. 2560 แต่วันนี้ยังไม่มีการสรุปว่า จะมีการปรับขึ้นเท่าไรและอย่างไร เพราะต้องพิจารณาก่อนว่าการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เสนอมานั้น ซึ่งมีทั้งจังหวัดที่ขอปรับขึ้นค่าจ้างและไม่ปรับนั้น มีการคำนวณถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมา จะอาศัย 3 ปัจจัยในการคิดคำนวณ คือ ภาวะเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง โดยใช้มาแล้วกว่า 10 ปี บอร์ดฯ จึงหารือว่ายังมีปัจจัยอะไรในการนำมาคำนวณเพิ่มอีกหรือไม่เพื่อสะท้อนค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไปศึกษาปัจจัยเพิ่มเติม ซึ่งมีกำหนดอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว

“ปัจจัยที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จะนำมาเป็นสูตรคำนวณเพิ่มเติมมีอยู่ประมาณ 10 ปัจจัย คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารถในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม และให้ศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเขานั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง และปรับให้เหมาะสมกับสภาวการณ์และความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้างมากขึ้น โดยให้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วให้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในเดือน ต.ค.” ปลัดแรงงาน กล่าว

นายอรรธยุทธ ลียะวณิช ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เมื่อได้สูตรในการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แล้ว ก็จะนำเอาข้อมูลจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทุกจังหวัดมาใส่ในสูตรคำนวณใหม่นี้ เพื่อให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นจริง ซึ่งบางจังหวัดที่ไม่ได้เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ ซึ่งคงไม่ได้ปรับเท่ากันทั่วทั้งประเทศ แต่จะพิจารณาแบบเป็นกลุ่มจังหวัด

นายสมบัติ น้อยหว้า ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ยืนยันว่า การหาปัจจัยเพิ่มเติมเพื่อทำสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นั้น ไม่ใช่การประวิงเวลา แต่เพื่อให้ได้สูตรคำนวณใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างและนายจ้างให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ และที่เสนอมาก็มีเพียง 10 กว่าจังหวัด ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ต้องดูด้วยว่านายจ้างมีกำลังจ่ายได้หรือไม่ เพราะหากปรับไปแล้วนายจ้างจ่ายไม่ได้ สุดท้ายลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี

เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องของ คสรท. ที่ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วทั้งประเทศ 360 บาท ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ที่ประชุมก็รับฟังข้อเรียกร้อง แต่อย่างที่บอกว่าการจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยการคำนวณที่เป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นจริงในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการหาปัจจัยเพิ่มเติมที่ละเอียดขึ้นในการนำมาทำสูตรคำนวณ จึงขอเวลา 1 เดือน ให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ได้ไปศึกษาและนำมาเสนอต่อบอร์ดค่าจ้าง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น