สธ. หนุนลดระดับ “แอมเฟตามีน” เป็นวัตถุออกฤทธ์ฯ ประเภท 2 นำมาใช้ทางการแพทย์ ช่วยรักษาโรคสมาธิสั้น - สารทดแทนบำบัดกลุ่มติดยาบ้าขั้นรุนแรง ชี้ สหรัฐฯ - ออสเตรเลีย มีการใช้แล้ว ส่วน “เมทแอมเฟตามีน” ให้คงเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม เหตุเป็นพิษต่อสมอง ระบบประสาท โอกาสติดสูง
ความคืบหน้านโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยจัดให้ผู้เสพยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” แทนการเป็นอาชญากร และให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการดูแลบำบัดรักษา รวมไปถึงการลดระดับแอมเฟตามีน หรือยาบ้า เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้นั้น
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมเมอร์เคียว ฟอร์จูน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดให้ยาบ้า คือ เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 จึงนำมาใช้ทางการแพทย์ไม่ได้ แต่หากจะนำมาใช้ก็ต้องย้ายกลับมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะใช้ในการรักษาหรือไม่ เบื้องต้น สธ. มีการหารือแล้วว่าจะใช้ในตัว “แอมเฟตามีน” เพราะประโยชน์ทางการแพทย์มีการศึกษาอยู่ในเชิงระบบบำบัดรักษาด้านประสาท การกระตุ้นทางจิตประสาท ส่วน “เมทแอมเฟตามีน” คงไม่นำมาใช้ เพราะเป็นอนุพันธุ์ มีฤทธิ์ในการติดสูง
“การดำเนินงานในเรื่องนี้ต้องอาศัยกระทรวงอื่น ๆ มาร่วมด้วย เบื้องต้น สธ. มีแบบคัดกรองผู้ป่วย โดยจะมีการอบรมบุคลากร สธ. ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลระดับอำเภอก็เป็นศูนย์คัดกรองอยู่แล้ว โดยจะแบ่งการบำบัดออกเป็นทั้งกลุ่มใช้ กลุ่มเสพ และกลุ่มติด โดยจะมีแนวทางการดำเนินการแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ซึ่งการบำบัดรักษาผู้ป่วยจะมีทั้งรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ก็ต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งในการคัดกรองให้ผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษานั้น อาจต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และตำรวจมาช่วยด้วย” ปลัด สธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ. มีความพร้อมหรือไม่ หากลดระดับแอมเฟตามีน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการรักษา นพ.โสภณ กล่าวว่า หากเป็นนโยบายเพื่อประโยชน์ต่อสังคมก็ควรจะหันมาช่วยกัน และหากมีการแก้ไขในเรื่องผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย แทนที่จะรับโทษเลย ก็จะดึงเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาได้เลย
ด้าน นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ตามปกติการจะใช้ยาอะไรต้องหาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างพิษและประโยชน์ ส่วนของแอมเฟตามีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีใช้กว่า 10 ยี่ห้อ นอกจากนี้ มีการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ว่า สามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่ติดยาบ้าในระดับรุนแรง หรือติดงอมแงมได้ โดยใช้เป็นสารทดแทนในช่วงรักษาบำบัด 2 - 3 เดือนแรก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้ยานี้ เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งทางการแพทย์ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนเมทแอมเฟตามีนไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะมีเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาท
“ที่ผ่านมา มีการจัดแอมเฟตามีนทั้งกลุ่มให้อยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ทำให้เมืองไทยไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แอมเฟตามีนในทางการแพทย์ จึงเห็นด้วยที่จะมีการปรับลดกลุ่มแอมเฟตามีนให้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์สามารถนำมาใช้ประโยน์ทางการแพทย์ได้ เพราะแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดต่ำ แต่เมทแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดสูง” นพ.วิโรจน์ กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลปัจจุบันพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ต้องขังมาจากปัญหาเมทแอมเฟตามีน และร้อยละ 11 ที่เป็นผู้เสพ ส่วนบุคคลที่เข้ามาบำบัดใน สธ. จำนวน 2 แสนราย มีร้อยละ 35 ที่สมัครใจรับการบำบัด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่