xs
xsm
sm
md
lg

จัดวัคซีน “หัด-หัดเยอรมัน” กลุ่มเสี่ยง 1 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค จับมือ สปสช. ควบคุมโรคหัด - หัดเยอรมัน หลังพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ต่อเนื่อง จัด โครงการให้วัคซีนป้องกันกลุ่มเสี่ยง ในปี 59 ครอบคลุมทุกสิทธิ 1 ล้านคนทั่วประเทศ มุ่งลดผู้ป่วยตามเป้าหมายประเทศไม่เกิน 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เริ่มรับบริการที่หน่วยบริการของรัฐ ก.ค.- ธ.ค. 59

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือเร่งควบคุมและป้องกันโรคหัดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยให้ทุกประเทศทั่วโลกลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดและหัดเยอรมันให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายให้มีผู้ป่วยเหลือไม่เกิน 1 คนต่อประชากรทุกกลุ่มอายุล้านคน ภายในปี 2563 รวมถึงการควบคุมโรคหัดเยอรมัน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรัดดำเนินการให้วัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายและผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยปัจจุบันกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันแก่เด็กรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 - 12 เดือน ครั้งที่สองอายุ 2 ปี 6 เดือน

จากข้อมูลเฝ้าระวังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมา พบว่า อัตราป่วยโรคหัดและหัดเยอรมันประเทศไทยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต เป็นผลจากการเร่งรัดการบริการวัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายให้มีความครอบคลุมอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ ยังคงพบการระบาดโรคหัดและหัดเยอรมันเป็นระยะ และมีแนวโน้มพบในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนจะมีการให้วัคซีน และยังไม่เคยป่วยมาก่อน หรือเกิดภายหลังแต่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน การระบาดมีโอกาสพบในสถานที่ที่มีกลุ่มคนอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก เช่น โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคหัด - หัดเยอรมัน บรรลุเป้าหมายกำหนด กรมควบคุมโรค จึงได้ร่วมกับ สปสช. จัดทำ “โครงการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด - หัดเยอรมัน ในผู้ใหญ่ ปี 2559” ขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดการป่วยและภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคหัดและหัดเยอรมัน และเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดและหัดเยอรมันในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 40 ปี ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ 1 ล้านคน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อจัดบริการให้วัคซีนกับกลุ่มเป้าหมาย เน้นผู้ที่อยู่ในสถานที่รวมเป็นหมู่มากที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน และค่ายทหาร

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันโครงการนี้ ได้กระจายวัคซีนให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา ถึง 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางการให้บริการวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผลที่ได้รับไม่เพียงลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต แต่ยังลดค่ารักษาพยาบาล รวมถึงลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการขาดงานเนื่องจากป่วยได้

“งานป้องกันและควบคุมโรคจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย สปสช. เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมและลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัด และหัดเยอรมัน ได้มาก แต่ยังพบการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งทุกหน่วยงานต่างให้ความสำคัญต่อการร่วมมือภายใต้โครงการนี้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จการลดจำนวนผู้ป่วยตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น