สภากาชาดไทยเปิด “ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน” ดูแลกลุ่มคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ทั้งตรวจคัดกรอง รักษา ป้องกันโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ การดูแลหลังแปลงเพศระยะยาว พร้อมบริการฉีดฮอร์โมน โบท็อกซ์ ป้องกันการใช้เข็มร่วมกันจนเสี่ยงติดเชื้อ แนะปรับบริการทางการแพทย์ลดความรู้สึกไม่เท่าเทียมคนข้ามเพศ
วันนี้ (23 ส.ค.) ที่โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท กรุงเทพฯ ในงานประชุมเสวนาระหว่างผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศกับผู้นำชุมชนคนข้ามเพศ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทยได้มีการเปิด “ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน” ขึ้น เมื่อ พ.ย. 2558 เพื่อให้บริการแก่กลุ่มคนข้ามเพศโดยเฉพาะ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จำนวนมาก เช่น เอชไอวี เอชพีวี หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส หูด เป็นต้น แต่ยังไม่มีสถานพยาบาลใดที่ให้บริการและดูแลแบบระยะยาวแก่กลุ่มเพศทางเลือกและคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้ จะให้บริการแบบวันสตอปเซอร์วิส ให้บริการตรวจคัดกรอง รักษา และป้องกันโรคในระยะยาวแบบครบวงจร เช่น การวัดระดับฮอร์โมน การฉีดฮอร์โมน การตรวจค่าการทำงานของตับ ไต บริการตรวจโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจคัดกรองระยะก่อนมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ทวารหนัก ช่องคลอด และช่องคลอดใหม่ในกลุ่มชายแปลงเพศเป็นหญิง รวมถึงโรคที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแปลงเพศ ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มาราว 8 เดือน มีผู้เข้ารับบริการแล้วกว่า 400 คน
พญ.นิตยา กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มคนข้ามเพศ หากเป็นชายข้ามเพศ หรือแปลงเพศเป็นหญิง จะเจอปัญหาเรื่องการดูแลหลังผ่าตัดอย่างต่อเนื่องได้ไม่ดีพอ เช่น มีไหมตกค้าง หรือมีขนขึ้นด้านใน ทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผล หรือช่องคลอดใหม่ตีบตัน รวมถึงเจอโรคหูดในช่องคลอดใหม่ เพราะเนื้อเยื่อช่องคลอดใหม่ทำมาจากหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ซึ่งเพศชายทุกคนจะมีเชื้อเอชพีวีในการก่อโรคอยู่แล้ว ซึ่งจากการตรวจอาสาสมัคร 10 รายพบว่า ร้อยละ 20 มีเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง ส่วนปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มหญิงข้ามเพศเป็นชาย หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากข้ามเพศมาแล้วมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอดเดิมหรือทางทวารหนักก็มีความเสี่ยงในการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เหมือนผู้หญิงและกลุ่มชายรักชายทั่วไป ซึ่งปัญหาคือเมื่อข้ามเพศเป็นชายแล้วทำให้ไม่กล้าไปหาสูติแพทย์ ซึ่งศูนย์สุขภาพฯ จะให้บริการครอบคลุมในเรื่องเหล่านี้
“อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากในกลุ่มเพศทางเลือกคือ พบว่า มีการใช้ฮอร์โมนมากถึง 90% บางคนมีการใช้เข็มฉีดร่วมกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้ รวมไปถึงปัญหาการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด ศูนย์สุขภาพฯ จึงมีการให้บริการฉีดฮอร์โมนแก่คนข้ามเพศด้วย ซึ่งถือเป็นบริการที่คนข้ามเพศมารับบริการมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีบริการเสริมความงามในส่วนของการฉีดโบท็อกซ์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันพบว่าสาวประเภทสองมีการติดเชื้อเอชไอวีจากการเสริมความงามจากหมอเถื่อน ซึ่งจะมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ถือว่าเป็นการให้บริการเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มฉีดยาอีกช่องทางหนึ่ง และในอนาคตอาจจะขยายบริการฉีดฟิลเลอร์ด้วย แต่ที่จะขยายอย่างจริงจังคือ การให้มีจิตแพทย์มาคอยดูแลปรับสภาพจิตใจ เพราะกลุ่มเพศทางเลือกมักมีปัญหาซึมเศร้า เครียด และใช้สารเสพติด แต่คนไม่ค่อยนึกถึง” พญ.นิตยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีการปรับบริการทางการแพทย์เพื่อไม่ให้ละเมิด พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ด้วยหรือไม่ พญ.นิตยา กล่าวว่า จริง ๆ แล้วบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีใครอยากให้บริการแบบไม่เท่าเทียม เพียงแต่ยังไม่มีทักษะหรือยังไม่มีระบบบริการที่จะทำให้คนข้ามเพศ หรือกลุ่มเพศทางเลือกรู้สึกว่าได้รับความไม่เท่าเทียม เช่น การระบุคำนำหน้านาม สมมติแต่งตัวเป็นผู้หญิงมาแล้วแต่ประกาศเรียกนาย เป็นต้น หรือการซักถามประวัติทางการแพทย์ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก ซึ่งแพทย์ก็ต้องถามละเอียดถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่ผู้มารับบริการอาจรู้สึกว่าทำไมต้องถามมากขนาดนี้ เพราะฉันเป็นกะเทยหรือ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ไม่ว่าเพศใดเราก็ถามเหมือนกันหมด เพียงแต่ไม่ได้มีการทำความเข้าใจแต่แรก ซึ่งตรงนี้อยู่ที่ผู้บริหารจะให้ความสำคัญหรือไม่ในการปรับระบบให้คนข้ามเพศไม่รู้สึกว่าได้รับความไม่เท่าเทียม รวมไปถึงอาจจะต้องมีการบรรจุเรื่องการดูแลกลุ่มเพศทางเลือกในหลักสูตรการสอนของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่