xs
xsm
sm
md
lg

เตือนกิน “ยาคุม” หวังเป็นสาว อันตรายระยะยาว “หลอดเลือดอุดตัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือนกิน “ยาคุม” หวังนมโต ข้ามเพศเป็นหญิงอันตราย ทำหลอดเลือดดำอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวและสมองเพิ่มขึ้น ชี้ อายุเกิน 35 ปี มีโรคประจำตัว สูบบุหรี่ ห้ามกินเด็ดขาด ห่วงใช้ฮอร์โมนหลายสูตรแต่ยาตัวเดียวกัน ได้รับยาเกินขนาด ย้ำใช้ฮอร์โมนคู่ยาต้านไวรัสป้องกันเอดส์ได้

นพ.นิพัฒน์ ธีรตกุลพิศาล แพทย์ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวในงานเสวนาระหว่างผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศ กับผู้นำชุมชนคนข้ามเพศ จัดโดยศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีนสภากาชาดไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การข้ามเพศจากชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชายนั้น มีการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน โดยวัตถุประสงค์คือเพื่อลดฮอร์โมนเพศเดิม และเสริมฮอร์โมนเพศที่ต้องการ ซึ่งฮอร์โมนที่ใช้ในการข้ามเพศจากชายเป็นหญิง เพื่อช่วยปรับรูปร่างและเสียงให้เหมือนผู้หญิง มี 3 กลุ่มคือ 1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีทั้งชนิดกิน ชนิดฉีด และแผ่นแปะหรือเจล แต่ที่แพทย์ไม่แนะนำให้กิน ได้แก่ อีอี หรือ ยาคุม เพราะมีผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดดำอุดตันและโรคหลอดเลือดหัวใจ และยาคอนจูเกท เอสโตรเจน (Conjugate estrogen) หรือ พรีมาริน เพราะวัดระดับยาได้ยาก  2. ฮอร์โมนต้านฤทธิ์แอนโตรเจน เพื่อลดผลของฮอร์โมนเพศชาย ที่ต้องระวังคือ ไซโปรเตอโรน อซิเตท (Cyproterone  acetate) เพราะมีข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียงต่อตับ และ 3. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เชื่อว่า เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เต้านมโตได้ดี แต่บางวิจัยพบว่าผลต่อเต้านมยังไม่ชัดเจน การใช้โปรเจสเตอโรน ร่วมกับเอสโตรเจน ในหญิงที่หมดประจำเดือน พบมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น

“แม้จะไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิด แต่หากคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ก็ยังใช้ยาคุมกำเนิดเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงได้ ค่อนข้างปลอดภัย เพราะยาที่แนะนำให้กิน คือ 17-เบตา เอสทราดิอัล (17-beta estradiol) เอสทราดิอัล วาเลเรท (Estradiol Valerate) มีราคาค่อนข้างสูง คือ 200 - 400 บาท และค่อนข้างหาได้ยากในต่างจังหวัด ในเมืองใหญ่ยังพอหาได้ แต่ถ้าเป็นคนที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัว หรือสูบบุหรี่ ต้องไม่ใช้ยาคุมกำเนิด ต้องเลี่ยงไปใช้ฮอร์โมนตัวอื่น แต่ที่เป็นห่วงคือ คนข้ามเพศมีการใช้ฮอร์โมนในหลากหลายชื่อ แต่เป็นตัวยาเดียวกัน บางคนซื้อมากินหลายสูตร ก็จะทำให้ได้รับตัวยาในขนาดที่สูงเกิน อยากแนะนำให้ดูชื่อตัวยาก่อนที่จะใช้ฮอร์โมนในชื่อทางการค้าต่าง ๆ จะป้องกันไม่ให้ได้รับฮอร์โมนเกินขนาด อย่างไรก็ตาม ที่ดีที่สุดควรใช้ฮอร์โมนภายใต้การแนะนำของแพทย์” นพ.นิพัฒน์ กล่าวและว่า สำหรับฮอร์โมนที่ใช้ในการข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย จะใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งมีวิธีการใช้หลายแบบ เช่น ยากิน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ใช้แผ่นแปะหรือเจล เพื่อช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและทำให้เสียงเหมือนผู้ชาย ทำให้ไม่มีประจำเดือน ที่ต้องระวังคือ ยากิน เทสโทสเตอโรน อันดิคาโนเอท (Testosterone undecanoate) หรือ แอนดิอัล ไม่มีในอเมริกา เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียงต่อตับ

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว ที่ชื่อว่า ยาเพร็พ (PrEP) ในคนที่ไม่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 92% ซึ่งที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้คนกลุ่มเสี่ยง อาทิ สาวประเภทสอง ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงให้รับประทานยาดังกล่าว แต่ปัญหาในต่างประเทศที่ทำการศึกษาการให้ยาเพร็บในสาวประเภทสอง พบว่า มีจำนวนหนึ่งที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น เมื่อวิเคราะห์ลงไปก็พบว่า สาวประเภทสองที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอเป็นกลุ่มที่มีการรับประทานฮอร์โมนเพศหญิงด้วย จึงมีการตั้งสมมติฐานว่า สาวประเภทสองอาจจะกังวลเรื่องประสิทธิภาพของยาเพร็บจะไปกดระดับฮอร์โมน ส่งผลต่อทำให้การข้ามเพศไม่เต็มที่ เลยพยายามลดระดับยาเพร็บเอง ซึ่งในส่วนของสาวประเภทสองในประเทศไทย ก็มีความกังวลในแบบเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

“ในทางทฤษฎีแล้วยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาเพร็บ จะไม่ตีกันกับยาฮอร์โมน แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการออกมา จึงทำให้คนหลงเชื่อข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการส่งต่อทางโซเชียลมีเดีย หรือความเชื่อต่าง ๆ อธิบายไปก็ยังกลัว ดังนั้น เพื่อให้มีข้อมูลยืนยันชัดเจน ทางสภากาชาดไทยจึงเตรียมของบประมาณปี 2560 เพื่อศึกษาวิจัยในกลุ่มสาวประเภทสองจำนวน 30 - 50 คน ที่รับประทานยาเพร็บ และยาฮอร์โมนร่วมกัน เพื่อยืนยันว่า การใช้ยา 2 กลุ่มร่วมกันไม่ส่งผลซึ่งกันและกัน ตอนนี้มีหลาย ๆ ประเทศ ที่ศึกษาอยู่ เช่น บราซิล แต่เราก็ต้องทำด้วยเพราะสรีระ ชาติพันธุ์แตกต่างกัน การขับยา ระดับยาซึ่งจะแตกต่างกัน” พญ.นิตยา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น