xs
xsm
sm
md
lg

ป้ายเดียวเสียวทั้งองค์กร! เมื่อ “ห้องน้ำหญิง” ไม่ยินดีต้อนรับ “เพศที่สาม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ต้องถูกเลี้ยงดูมาแบบไหนถึงได้มีจิตใจคับแคบได้ขนาดนี้” กลุ่มคนข้ามเพศโพสต์แฉ “ป้ายแบ่งเพศ” หน้าห้องน้ำจนกลายเป็นประเด็นเดือด ควานหาตัวกันให้สนั่นเน็ตว่าเป็นฝีมือใคร ทราบเพียงว่าห้องน้ำในประเด็นนั้น มี “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” เป็นเจ้าของ แค่นี้ก็เล่นเอาองค์กรหนาวๆ ร้อนๆ เพราะถูกกระแสแบ่งแยกทางเพศและละเมิดสิทธิมนุษยชนถล่ม จนอยู่ไม่เป็นสุขกันแล้ว!!



รู้ไว้! โลกนี้ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ!!

[ทวีตเดียว กลายเป็นประเด็นร้อนทันที!!]
“เพศที่สามไม่ใช้ห้องน้ำผู้หญิงนะคะ เข้าใจตรงกันนะคะ เราไม่ยินดีค่ะ ขอบคุณค่ะ” เห็นป้ายประกาศขนาด A4 แปะอยู่หน้าห้องน้ำแล้วถึงกับของขึ้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนข้ามเพศ จึงถ่ายภาพและทวีตตอกกลับด้วยความหงุดหงิดใจ
 
และแล้วเพียงโพสต์เดียวบนโลกออนไลน์ก็กลายเป็นประเด็นร้อน โลกโซเชียลฯ พร้อมใจแชร์ภาพและคำบรรยายตอกกลับประโยคนี้สนั่นเน็ต “ไม่ชอบตรงคำว่าไม่ยินดี #ต้องถูกเลี้ยงดูมาแบบไหนถึงได้มีจิตใจคับแคบได้ขนาดนี้ พ่อแม่ไม่รักหรอ”

ล่าสุด เจ้าของภาพแชร์สนั่นเน็ตครั้งนี้ก็ออกมาแสดงตัวแล้วว่า เธอคือ "น้องโฟร์โมสต์-ยศพัทธ์ ทองโฉมค่า" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้เข้ามาฝึกงานกับ “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” กระทั่งเดินมาเจอป้ายแบ่งเพศนี้เข้า จึงรู้สึกกระทบใจจนต้องขอทวีตออกไป และนี่คือคำอธิบายจากเจ้าตัวโดยตรง ที่ให้ไว้ผ่านแฟนเพจ "Prism Digital Magazine"

"สวัสดีพี่ๆ น้องๆ ทุกคน วันนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจนะคะ หนูได้มาฝึกงานที่องค์กรนี้เดือนกว่าๆ แล้ว ได้รับความอบอุ่นดี เหตุที่เกิดขึ้น ได้คุยกับผู้ใหญ่ขององค์กรแล้ว ผู้บริหารองค์กรไม่มีนโยบายการเหยียดเพศ ซึ่งทางผู้บริหารขององค์กรก็รับฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมยินดีหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุดค่ะ

จริงๆ แล้ว หนูไม่อยากให้ทุกคนมองว่า องค์กรกีดกันหรือเหยียดเพศ แต่เกิดขึ้นจากแค่คนนึงหรือกลุ่มนึงที่ไม่พอใจ และไม่เปิดใจให้กับเพศที่สามค่ะ อยากให้ทุกคนเข้าใจและรับทราบตรงกันนะคะ"



จากกรณีนี้ มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นใจคนข้ามเพศ มองว่าน่าจะหยวนๆ ใช้ร่วมกันไปได้ และอีกกลุ่มที่ให้เหตุผลว่าเข้าใจเจ้าของป้ายแบ่งเพศ อาจเพราะไม่สะดวกใจ เกรงว่าอาจมีมิจฉาชีพแฝงกายเข้ามาในห้องน้ำหญิง ในรูปลักษณ์ 'ผู้หญิงข้ามเพศ'

ซึ่งถ้าให้วิเคราะห์กันด้วยหลักเหตุและผลจริงๆ เรื่องความปลอดภัยที่เจ้าของป้ายและคนบางส่วนกังวลนั้น บอกได้เลยว่าถ้ามิจฉาชีพเลือกที่จะทำอันตรายในห้องน้ำหญิงจริงๆ ไม่ต้องเลือกแฝงกายเป็นหญิงก็ได้ แต่ยังสามารถฝากนางนกต่อซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ๆ เข้ามากระทำการได้อีกหลากหลายรูปแบบ ข้อกังวลเรื่องนี้จึงควรปัดให้ตกไป

ส่วนประเด็นสำคัญที่ว่า จะแก้ปัญหาเรื่องความไม่สบายใจในการใช้ 'ห้องน้ำร่วม' กับคนข้ามเพศอย่างไรนั้น “ดนัย ลินจงรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานกลาง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศแห่งแรกในประเทศไทย ได้ฝากมิติความคิดเอาไว้กับทีมข่าว ผู้จัดการ Live เรียบร้อยแล้ว


[เปิดหูเปิดตา โลกนี้ยังมีความหลากหลายทางเพศอยู่มากมาย | ขอบคุณภาพ: christianpost.com]
ต้องบอกว่าน่าสงสารทุกคนเลยที่ถูกหลอกว่า โลกของเรามีแค่ 'เพศชาย' กับ 'เพศหญิง' แค่ 2 เพศ และเราก็ถูกจัดการใช้อยู่แค่ 'ห้องน้ำชาย' กับ 'ห้องน้ำหญิง' ซึ่งมันไม่ใช่ แล้วก็เห็นใจคนที่เขาจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำด้วยค่ะ คนที่เป็น 'คนข้ามเพศ' ที่ไม่รู้จะไปใช้ตรงไหน

เรื่องการแบ่งห้องน้ำออกเป็น 2 เพศ ถ้าเกิดจากประเด็นเรื่องอันตราย คิดว่าอยู่กันแค่เฉพาะกลุ่มผู้หญิงหรือกลุ่มผู้ชาย แล้วจะปลอดภัย ก็อยากจะบอกว่ามันก็เป็นภาพลวงเหมือนกัน มันไม่จริงนะ มันอยู่ที่การออกแบบ และจริงๆ แล้ว เราควรจะใช้ห้องน้ำด้วยกันด้วยซ้ำไป ถึงจะเรียกว่าไม่เลือกปฏิบัติ

แต่ถ้าการแบ่งห้องน้ำเป็น 2 เพศ เกิดขึ้นมาจาก 'ความรังเกียจ' แล้วใช้ห้องน้ำมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยก ใช้ในการกีดกันคนอีกกลุ่มออกไป อันนี้ก็อีกเรื่องนึง ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ก็ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ มันหมายความว่าคนที่คิดแบบนี้มองเห็นคนบนโลกใบนี้มีแค่ 'ผู้หญิง' กับ 'ผู้ชาย' มีแค่กลุ่ม 'รักต่างเพศ' เท่านั้นเอง ซึ่งมันไม่ใช่ ยังมีกลุ่ม 'รักเพศเดียวกัน' อยู่อีก

ว่ากันตามจริง กลุ่ม 'ผู้หญิงข้ามเพศ' ที่ข้ามเพศจาก 'ชายเป็นหญิง' เวลาเข้าห้องน้ำชาย มันยากกว่าเข้าห้องน้ำหญิงอีกนะ เพราะเขาแต่งตัวเป็นผู้หญิงขนาดนั้นแล้ว จะให้เขาเดินเข้าห้องน้ำชาย แล้วเขาจะได้รับการปฏิบัติยังไง เหมือนผลักให้เขาไปผจญกับนรกอีกขุมหนึ่งนะ

และถ้าแบ่งการตามเพศแบบนั้น ถามว่ากลุ่ม 'ผู้ชายข้ามเพศ' ที่ข้ามเพศจาก 'หญิงเป็นชาย' หรือผู้หญิงที่มีใจเป็นผู้ชายและแสดงออกว่าเป็นเพศชาย จะต้องไปเข้าห้องน้ำฝั่งไหน? เพราะทอมที่แปลงเพศแล้วในเมืองไทยก็มีน้อยมาก มีอวัยวะเพศแบบผู้ชายน้อยมาก เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องปลดทุกข์แบบผู้หญิง ซึ่งถ้าแบ่งแบบนี้ ห้องน้ำหญิงก็จะต่อคิวยาวมาก


["All Gender Restroom" ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเพศที่สามเท่านั้น แต่คนพิการ คนแก่ และเด็กก็ใช้ร่วมได้ | ขอบคุณภาพ: sfgate.com]
สำหรับกลุ่มที่ตั้งคำถามว่า จะให้สร้าง 'ห้องน้ำสำหรับเพศที่สาม' เลยไหม ถ้าเป็นแบบนั้น คุณก็ต้องสร้างห้องน้ำอีกกี่แบบไม่รู้เยอะแยะไปหมด ถ้าแบ่งกันตามเพศที่แยกไปได้อีกมากมาย ซึ่งไม่ตอบโจทย์ แต่มันจะมีห้องน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า 'ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ (All Gender Restroom)' ที่ถูกออกแบบให้ปลอดภัยเหมาะแก่คนทุกเพศทุกวัย คือรูปแบบที่บอกไว้ว่าคือห้องน้ำห้องที่ 3 ที่ควรเกิดขึ้น

เพราะห้องน้ำลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนข้ามเพศเท่านั้นนะ อย่างลูกสาวที่พาพ่อแก่ๆ ไปเข้าห้องน้ำ เขาก็สามารถช่วยเหลือพ่อของเขาได้ด้วย หรือพ่อที่พาลูกสาวเล็กๆ เข้าไป ก็สามารถเข้าไปได้ด้วยเพื่อดูแลลูก นี่แหละคือรูปแบบของห้องน้ำที่เหมาะจะสร้างขึ้น เพราะมันเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อกลุ่มคนข้ามเพศเป็นพิเศษ



แบ่งแยกแบบไหน สะท้อนภาพลักษณ์องค์กรแบบนั้น!!

["ห้องน้ำสำหรับทุกเพศทุกวัย" ในต่างประเทศ | ขอบคุณภาพ: inforum.com]
ประเด็นดรามาเรื่อง “ห้องสุขากับการแบ่งแยกทางเพศ” ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในระดับโลก หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ แถลงการณ์จากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งออกมาประกาศเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้กำหนดระเบียบให้โรงเรียนในสังกัดภาครัฐ อนุญาตให้นักเรียนเพศที่สามเลือกเข้าห้องน้ำได้ตามเพศที่เด็กต้องการ เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางเพศ

“เพื่อทำให้มั่นใจว่านักเรียนเพศที่สาม จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ภายในรั้วโรงเรียนที่มีบรรยากาศสร้างสรรค์ โดยที่ไม่มีความรู้สึกถูกกีดกันแต่อย่างใด” รัฐวอชิงตันประกาศเอาไว้ชัดเจน ตามแนวทางที่ โอบามา ประธานาธิบดีออกคำสั่งเอาไว้

“ภายในรั้วโรงเรียนของเรา จะไม่มีการเปิดช่องทางต่อการกีดกันทุกรูปแบบอีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงการกีดกันนักเรียนเพศที่สาม จากพื้นฐานของเพศของพวกเขาอีกด้วย เพื่อปกป้องนักเรียนเพศที่สาม จากการถูกทำร้ายโดยเพื่อนของพวกเขาเอง และยังเป็นการชี้และแก้ปัญหาถึงนโยบายโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการเลือกปฎิบัติ” ลอเร็ตตา ลินช์ (Loretta Lynch) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศเอาไว้
 


[แม้แต่ในจีน ยังเปิดกว้างสำหรับ "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ"]
แม้แต่ในประเทศจีน ยังมีการจับมือร่วมกันระหว่างสถาบัน BGHEI ประจำกรุงปักกิ่ง, UN และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรอีกกว่า 30 แห่ง เพื่อรณรงค์ติดป้ายสัญลักษณ์ “ห้องน้ำสำหรับทุกเพศทุกวัย” ขึ้นมา โดยเริ่มใช้ตามบาร์และร้านกาแฟทั่วกรุงปักกิ่งเป็นอันดับแรก ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้ก็คือ “สัญลักษณ์หญิงครึ่งชาย” ซึ่งสื่อความหมายถึงเพศที่สาม เพื่อลดความกังวลแก่กลุ่มคนข้ามเพศ ให้ไม่ต้องคิดหนักอีกต่อไปว่าจะเข้าห้องน้ำฝั่งไหนดี


["ห้องน้ำเพศที่สาม" ในเชียงใหม่ | ขอบคุณภาพ: reviewchiangmai.com]
ลองมองย้อนกลับมาดูในประเทศไทยเอง ก็มีองค์กรที่เห็นความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่เหมือนกัน หนึ่งในที่ที่น่าสนใจก็คือ “ห้องน้ำเพศที่สาม” ในวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดป้ายหน้าห้องว่า “ห้องน้ำหญิง 2” ภายในไม่มีโถปัสสาวะผู้ชาย มีเพียงห้องน้ำชักโครกเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้อำนวยการที่อยากให้กลุ่มคนข้ามเพศได้มีห้องน้ำเป็นของตัวเอง

เมื่อหันมาเทียบกับกรณี “ป้ายแบ่งเพศ” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จนถูกประณามกันให้สนั่นเน็ต เมื่อทราบว่าเป็นห้องน้ำของ “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” ในความคิดเห็นของผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ จึงขอฝากมุมเล็กๆ ตรงนี้เอาไว้ให้หน่วยงานได้ขบคิด

“จริงๆ แล้ว ป้ายแบบนี้มีทุกที่นะ แต่ถ้าเป็นสถานที่ราชการ ก็จะสะท้อนภาพลักษณ์องค์กร แต่ให้พูดกันตามตรง ป้ายแบบนี้ไปติดที่ไหน ก็เสียภาพลักษณ์ของที่นั่นแหละ ยิ่งปีที่ผ่านมา เรามี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เกิดขึ้นมาแล้วด้วย ซึ่งทาง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เป็นหน่วยงานที่ดูแลเอง

นี่ยิ่งช่วยตอกย้ำให้ทางกระทรวงต้องหันไปทำงานกับภาคราชการทุกหน่วยทุกองค์กรให้ได้ก่อนเถอะ ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศแบบนี้ เพราะถ้าทำความเข้าใจกับสถานที่ราชการเองยังไม่ได้ มันก็ถือว่าลำบากแล้วนะ ถ้าจะไปทำความเข้าใจต่อๆ ไปกับใครในสังคม


[ตัวอย่าง "การไม่แบ่งแยก-ไม่กีดกันทางเพศ" ในประเทศที่พัฒนาแล้ว]

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น