xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปัด “ไพบูลย์” สั่งผลิตยาบ้าหวังลดราคาเหลือ 50 ส.ต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. ยัน “ไพบูลย์” ไม่ได้สั่งให้ อภ. ผลิตยาบ้า ช่วยลดราคาเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ ชี้ กระทรวงหมอลดความต้องการยาบ้าได้ด้วยการบำบัดรักษา อภ. แจงยาบ้ามี 2 ตัว “แอมเฟตามีน” ในบางประเทศใช้เป็นยาทดแทนการเสพติด “เมทแอมเฟตามีน”

วันนี้ (19 ส.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนโยบายลดยาเสพติดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ที่ให้ สธ. ช่วยหาวิธีทำให้ราคายาบ้าถูกลงเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ จนเกิดการตั้งคำถามว่าจะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาบ้าหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เป็นความเข้าใจผิด เพราะ รมว.ยธ. ไม่ได้สั่งให้มาผลิตแต่อย่างใด และ สธ. ก็คงไม่ผลิตแน่นอนด้วย ทั้งนี้ อยากให้ทำความเข้าใจว่า การกำกับปราบปรามยาเสพติดยังเหมือนเดิม เพียงแต่ต้องทำทุกภาคส่วน โดย สธ. จะต้องเข้ามาช่วยลดอุปสงค์ (ดีมานด์) หรือความต้องการสินค้าหรือยาบ้าให้ลดลง ซึ่งทำได้โดยการบำบัดรักษาผู้ป่วย คือ ดึงผู้เสพยามารักษาเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร ให้หายจากการติดยาและกลับสู่สังคม ไม่กลับไปเสพซ้ำ ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมกับหลายหน่วยงานในการดูแล ทั้งท้องถิ่น ชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังต้องปราบปราม จับกุม ลดอุปทาน (ซัปพลาย) หรือความต้องการในการเสนอขายสินค้าเช่นเดิม

“ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัด สธ. จะมีคลินิกบำบัดยาเสพติด มีศักยภาพที่จะรับผู้ติดยาเข้าเป็นผู้ป่วยเพื่อบำบัดได้ แต่ต้องหาแนวทางสร้างระบบเพื่อให้สามารถรองรับผู้ติดยาเข้าบำบัดได้มากขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยใช้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” คือเข้าใจบริบทและสาเหตุที่ทำให้เสพยา รวมถึงครอบครัวของผู้เสพ เพื่อเข้าถึงใจของผู้เสพและครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้เสพหรือผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และทุกหน่วยงานร่วมกันดูแลเพื่อเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและครอบครัว” รมว.สธ. กล่าว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.อภ. กล่าวว่า ยาบ้าในเมืองไทยมีอยู่ 2 ตัว คือ เมทแอมเฟตามีน และ แอมเฟตามีน ซึ่ง 2 ตัวนี้จะคล้ายกัน ซึ่งในบางประเทศถือว่า “แอมเฟตามีน” เป็นยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติด ก็จะมีการนำมาใช้เป็นยาทดแทนการเสพติดเมทแอมเฟตามีน เหมือนกับการใช้สารเมทาโดนมาใช้ทดแทนการเสพติดเฮโรอีน ดังนั้น หากจะมีนโยบายให้ผลิตยาบ้าในประเทศ ก็ต้องต้องชัดเจนว่าเป็นตัวใด ซึ่งหากเป็น แอมเฟตามีน อภ. สามารถผลิตได้โดยเทียบเคียงมาตรฐานของต่างประเทศได้ แต่หากเป็นเมทแอมเฟตามีนไม่รู้จะเอาไปเทียบมาตรฐานใด เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง

“คงไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ทั้งหมด หรือเป็นโทษทั้งหมด อยู่ที่กระบวนการควบคุมและกระบวนการให้ความรู้กับสังคม ถ้าควบคุมได้ดีโดยกำลังของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย และประชาชนเข้าใจเรื่องการใช้ยาตัวนี้ดี เชื่อว่า จะสามารถลดปัญหายาบ้าในประเทศได้” ผอ.อภ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น