xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “ยัดยา” ผู้ป่วยบังคับบำบัด ละเมิดสิทธิตรวจฉี่ม่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.ธัญญารักษ์ อุดรฯ วิจัยพบผู้ป่วยระบบบังคับบำบัด “ติดยา” ถูกละเมิด “สิทธิ” ทุกขั้นตอน ชี้ ถูกทำร้ายขณะตรวจค้น ข่มขู่ให้รับสารภาพ พ่วง “ยัดยา” ไม่แจ้งสิทธิตรวจยืนยันผลฉี่ หมดโอกาสยื่นประกันตัว ไม่แยกผู้ป่วยโรคติดต่อขณะคุมขัง ไม่แจ้งญาติ และไม่คืนของขณะนำส่งบำบัด เผย ผู้ป่วยวอนให้ข้อมูลทุกขั้นตอน ใช้ภาษากฎหมายเข้าใจง่าย

จากกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดปรับเปลี่ยนให้ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดแทนการถูกคุมขังในฐานะอาชญากร โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ออกมาย้ำแล้วว่า เฉพาะผู้ที่เสพยาเท่านั้น ไม่รวมผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้เสพที่ไปก่ออาชญากรรม

ล่าสุด กลุ่มงานพยาบาลผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ อุดรธานี ได้ทำการวิจัย 2 เรื่องเกี่ยวกับระบบการบังคับบำบัดตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 โดย น.ส.นุชสา อินทะจักร์ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี กล่าวว่า การนำผู้ติดยาเข้าสู่กระบวนการบังคับบำบัดนั้นมี 4 ขั้นตอน คือ การจับกุมตรวจค้น การยืนยันหาสารเสพติด การรอตรวจพิสูจน์ และการนำส่งเข้าสถานบำบัด ซึ่งจากการทำวิจัยเรื่อง “การละเมิดสิทธิผู้ป่วยในกระบวนการบังคับบำบัด : ศึกษาในผู้ป่วยโรงพยาบาลธัญญารักษ์ อุดรธานี” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยวิธีการสนทนากลุ่มในผู้ป่วยที่เสพยาบ้า และเข้ารับการรักษาแบบบังคับบำบัดใน รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี ไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 11 ราย เมื่อช่วง เม.ย. 2559 พบว่า ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 5 จังหวัด ทั้งหมดเป็นเพศชาย อายุ 19 - 46 ปี โดยถูกละเมิดสิทธิทุกขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นตอนการจับกุมตรวจค้น เจ้าหน้าที่ไม่มีการแสดงหลักฐานทางราชการก่อนการจับกุมตรวจค้นที่บ้าน มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย และข่มขู่ให้รับสารภาพ รวมทั้งการ “ยัดยา” เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิด 2. ขั้นตอนการตรวจยืนยันหาสารเสพติด เจ้าหน้าที่ไม่ให้คำแนะนำ และไม่แจ้งสิทธิในการตรวจยืนยันผลปัสสาวะที่โรงพยาบาล 3. ขั้นตอนกระบวนการตรวจพิสูจน์ ผู้ป่วยไม่ได้รับโอกาสให้มีการยื่นประกันตัว ในขณะถูกคุมขังไม่ได้รับการดูแลรักษาความเจ็บป่วยอื่นอย่างเหมาะสม เช่น ไม่มีการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ อาทิ โรคหิด วัณโรค เป็นต้น และ 4. ก่อนการนำส่งเข้าสถานบำบัด ไม่มีการแจ้งญาติให้รับทราบ และไม่ได้คืนของที่ฝากไว้ ข้อเสนอคือผู้เสพยาเสพติดแบบบังคับบำบัดควรได้รับสิทธิ ทั้งในฐานะผู้ต้องหาและในฐานะผู้ป่วย เจ้าหน้าที่รัฐจึงควรเคร่งครัดต่อการเคารพสิทธิในกระบวนการบังคับบำบัดทุกขั้นตอน

ด้าน นายขจรศักดิ์ แสนสุภา พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี กล่าวว่า จากการศึกษาความคิดเห็นของผู้เข้ารับการบังคับบำบัดต่อขั้นตอนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูฯ ทั้งแบบควบคุมตัวและแบบไม่เข้มงวดใน รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี จำนวน 30 คน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มย่อย พบว่า ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ทั้งหมดเป็นเพศชายอายุระหว่าง 18 - 52 ปี โดยผู้ป่วยมีความคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรมีความห่วงใยและปฏิบัติตัวเป็นกันเองกับผู้ป่วย ที่สำคัญ ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวน ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์การเสพ หรือการติดยาเสพติด ขั้นตอนการชะลอการฟ้องศาลดำเนินคดี รวมทั้งการสื่อสารด้วยภาษากฎหมายที่เข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่อญาติและกระบวนการบำบัดรักษา เพราะเห็นว่าการที่ญาติไม่ประกันตัว เพราะต้องการให้มาบำบัดรักษา ส่วนวิธีชุมชนบำบัดเห็นว่าเป็นวิธีการบำบัดรักษาที่ดี นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีความกังวลเรื่องมลทินทางสังคม แม้จะผ่านการบำบัดแล้วก็ตาม แต่เห็นว่าการบำบัดรักษาทำให้ลดมลทินทางสังคมด้านอาชญากรลงได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น