xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง!! โรคเครียดก่อนลงประชามติ แนะใช้สติรับข่าวสารพอเหมาะ ไม่หมกมุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
กรมสุขภาพจิต ห่วงรับข่าวสารก่อนลงประชามติจน “เครียด” แนะบริหารจัดการรับรู้ข่าวสารเหมาะสม ไม่หมกมุ่น ใช้สติในการรับข้อมูล รับความเห็นแตกต่าง พักผ่อนให้เพียงพอ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อีกไม่กี่วันจะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน แต่หากมีความกังวลมากในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียด โดยเฉพาะความคิดที่รุนแรงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียด หรือความโกรธขึ้นมาได้ ทั้งนี้ ให้สังเกตว่า ตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง เข้าข่ายเครียดสะสมหรือไม่ คือ มีอาการหงุดหงิดจนเสียการงาน ไม่มีสมาธิ สับสน ว้าวุ่น นอนไม่หลับ เกิดความกังวล ตึงเครียดจากการรับข่าวสาร มีอารมณ์แปรปรวน ใส่อารมณ์กับผู้อื่น จึงขอแนะนำให้บริหารจัดการเวลาให้เหมาะสม ควบคุมการรับรู้ข่าวสารให้อยู่ในระดับที่พอดี ไม่หมกมุ่นมากเกินไป นอนหลับให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย แบ่งเวลาให้กับครอบครัว ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่อนคลาย หรือ ออกกำลังกาย เป็นต้น

“ที่สำคัญ คือ ต้องใช้สติในการรับข้อมูลข่าวสาร พยายามควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะการโต้ตอบผ่านสังคมออนไลน์ที่มีความรวดเร็ว บางคำพูดหรือข้อความขาดการกลั่นกรอง ทำให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างได้ ปัญหายิ่งบานปลาย เพราะการโต้ตอบไปมาเปรียบเหมือนการปะทะ ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น อารมณ์ก็จะยิ่งรุนแรง ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้เตรียมพร้อมบุคลากรให้บริการปรึกษาลดเครียดให้กับประชาชนผ่านสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ให้บริการคลินิกคลายเครียดในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่ง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การมีความเห็นที่แตกต่างกันจึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งหากนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์จะทำให้เกิดการพัฒนา ช่วยให้คนเราสามารถมองเห็นปัญหาได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น มองเห็นข้อดีข้อเสีย มองเห็นทางเลือกของการแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้าน แต่ถ้านำความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก อารมณ์ขุ่นมัว เกิดความไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้ง ปะทะกัน ทำลายล้างกัน มีแต่ความสูญเสีย ดังนั้น การใช้สติให้มาก ตั้งสติให้ได้ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความเห็นต่างกันจึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่าห่วงที่สุด คือ กลุ่มคนที่มีความเครียดสูงจากความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก ที่นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพทางกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เกิดการกระทบกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย

“การป้องกันการเกิดปัญหาความรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นที่ดีที่สุด คือ การระวังไม่ให้เกิดความเครียด จึงขอแนะให้บริหารเวลาในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการลงประชามติอย่างเหมาะสม เปิดใจกว้างรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน เพื่อให้มีแง่มุมที่เปิดกว้างมากขึ้น ถึงแม้จะมีความเห็นต่างเราก็อยู่ร่วมกันได้ สังเกตอารมณ์ตัวเองให้รู้เท่าทันว่ากำลังเครียด หรือกำลังจะโกรธ แล้วหาวิธีผ่อนคลาย ฝึกชะลออารมณ์โกรธและสลายความเครียด เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกสติ ฝึกการหายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เตือนตัวเองเสมอว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา และมีพื้นที่ของความแตกต่าง ไม่มีใครคิดเหมือนกันทั้งหมด ผู้ที่มีความเห็นต่างไม่ใช่ศัตรูที่ต้องเอาชนะ ตลอดจนรวมพลังแสดงความห่วงใยบ้านเมือง ให้การลงประชามติผ่านพ้นไปด้วยดี โดยไม่ใช้ความรุนแรง คิดเห็นต่างได้แต่ไม่แตกแยก ซึ่งการที่เราได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อจะทำให้สังคมดีขึ้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่เมื่อรวมกันจำนวนมาก ย่อมจะเป็นผลดีต่อบ้านเมือง และเป็นการช่วยลดความเครียด ความคับข้องใจที่มีอยู่ในตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการแปลงความเครียดวิตกกังวลให้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น