xs
xsm
sm
md
lg

จวกยับ “ชมรมร้านขายยา” ยื่น อย.เลื่อนเวลาหาเภสัชฯเฝ้าร้าน อ้างหายาก รายได้ไม่พอจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชมรมร้านขายยา ทำหนังสือถึง อย. ขอเลื่อนเดดไลน์มีเภสัชฯประจำร้านตามข้อกำหนด GPP ไปถึงปี 65 อ้างเภสัชฯ หายาก รายได้ไม่พอจ้าง ลูกหลานยังเรียนเภสัชฯไม่จบ ด้านหมอยาจวกยับทำไม่ได้ควรปิดร้าน แฉใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ฟังไม่ขึ้นมากว่า 35 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาต และการขอใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เพื่อให้ร้านขายยามีวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice : GPP) ซึ่งกำหนดให้ทุกร้านต้องมีเภสัชกรประจำร้าน มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปเภสัชกร รวมไปถึงมีการกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการเก็บรักษาคุณภาพยา ซึ่งร้านขายยาเปิดใหม่จะต้องดำเนินการตามทันที ส่วนร้านขายยาที่เปิดมาก่อนหน้านี้จะให้ระยะเวลาในการปรับปรุงให้ตรงกับเกณฑ์ GPP ประมาณ 8 ปี โดยปรับอย่างเป็นขั้นเป็นตอนรวม 3 ระยะ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีข้อกังวลว่าร้านขายยาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ร้านขายยาประเภท ขย.2 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าร้านทั่วประเทศ ซึ่งเดิมสามารถขายยาสามัญประจำบ้านยาทั่วไป โดยที่ไม่ต้องมีเภสัชกรประจำร้านได้และไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ จึงต้องหาเภสัชกรมาประจำร้านให้ได้ มิเช่นนั้น เมื่อถึงเวลาประเมินร้านขายยาทั่วประเทศจะไม่ผ่านการประเมินทำให้ไม่สามารถต่ออายุร้านขายยาได้

ล่าสุด ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และสมาคมร้านขายยาได้ทำหนังสือเรื่อง การบังคับใช้กฎกระทรวงตามข้อตกลงการให้ระยะเวลาปรับตัว 8 ปี ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้ โดยให้เหตุผลว่า 1. มีข้อจำกัดในการหาเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเวลาที่เปิดทำการ จากจำนวน และความพร้อมของเภสัชกรที่จะปฏิบัติการในร้านยา 2. ผลประกอบการของร้านไม่เพียงพอที่จะตั้งเภสัชกรให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการ 3. ให้โอกาสร้านได้จัดหาเภสัชกร เช่น ส่งลูกเรียนเภสัชแต่หลายร้านลูกยังเรียนไม่จบ 4. ความไม่พร้อมของ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจประเมินและฝึกอบรม ถ้าหากมีการบังคับใช้หมวดบุคลากรโดยที่ทุกฝ่ายยังไม่พร้อม อาจจะทำให้ร้านขายยาทั่วประเทศต้องถูกปิดมากกว่าร้อยละ 60 ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข จึงขอโอกาสร้านยาให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ในฐานะผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้ธุรกิจร้านยาไปตกอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่

ด้วยเหตุนี้ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และสมาคมร้านขายยา มีความเห็นร่วมกัน ดังนี้ 1. ข้อปฏิบัติที่ต้องทำในระยะที่ 1 ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 ข้อย่อย 3.2 (ข) หมวดการให้บริการทางเภสัชกรรมกับผู้ป่วย ข้อ 14 15 16 17 18 19 20 และ 21 ให้ย้ายไปอยู่ในระยะที่ 3 ภายใน 25 มิถุนายน 2565 2. กำหนดมาตรการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาคุณภาพร้านยา พ.ศ. 2560 - 2565 และ 3. กำหนดมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการร้านยาให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น มีแนวทางการจัดการด้านกำลังคนเภสัชกรและระบบการจัดสรรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาให้เป็นไปตามกฏหมาย มีแนวทางการปรับตัวด้านทักษะการบริหารธุรกิจ บริการทั่วไป บริการวิชาชีพในยุคดิจิตอล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีแนวทางของสนับสนุนจากหน่วยงายราชการอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากการทำหนังสือดังกล่าวถึง อย. ทำให้เภสัชกรหลายรายไม่เห็นด้วย โดย ภญ.อวยพร กิติรัตน์ตระการ รองประธานชมรมร้านยาอีสานล่างได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่าได้ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งรองประธานชมรมร้านขายยาอีสานล่าง เนื่องจากมีความเห็นที่ขัดแย้งกับข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเห็นว่าเมื่อเภสัชกรจบใหม่ที่จะเปิดร้านขายยาต้องทำตาม GPP แล้วเหตุใดร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร หรือร้าน ขย. 2 ถึงไม่ต้องทำตาม GPP ซึ่งได้มีเภสัชกรจำนวนมากเข้ามาให้กำลังใจและแสดงความเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก โดยระบุว่า ร้านที่ปฏิบัติตามไม่ได้ก็ควรปิดตัวเองไป หรือข้ออ้างทั้ง 3 ข้อของชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย และสมาคมร้านขายยาเป็นเหตุผลเดิม ๆ ที่มีการอ้างมาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี และเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น