xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ ทำไมคนรุ่นใหม่เลือกไปทำงานที่ “มาเลเซีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันนอกจากการเรียนจบปริญญาโทในต่างประเทศ เป้าหมายสำคัญของเด็กยุค Gen Y สมัยนี้ ก็คือ การได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ทั้งในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา

แต่ปัจจุบันหลายบริษัทที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้ กลับเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ด้วยการออกมาเปิดสำนักงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และลดภาระการเดินทางของพนักงาน ซึ่งจุดหมายสำคัญของภูมิภาคนี้ ก็คือ ประเทศสิงคโปร์ แต่ภายหลังนโยบายคัดกรองชาวต่างชาติที่จะต้องการเดินทางมาทำงานในสิงคโปร์อย่างเข้มงวด บริษัทใหม่ ๆ หลายแห่งจึงทยอยเดินทางมาเปิดในประเทศมาเลเซียแทน

ด้วยความที่มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตที่ติดกับไทย และมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด มาเลเซียในวันนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของหลาย ๆ คนที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับเก็บหอมรอมริบเงินไปในเวลาเดียวกัน

วีรภัทร คันธะ บัณฑิตหนุ่มจากรั้วนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ก็เป็นคนหนึ่งที่จับกระแสนี้ได้ โดยปัจจุบันผันตัวจากงานข่าวมารับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการให้กับเว็บไซต์ Saleduck สตาร์ทอัปคูปองและส่วนลดออนไลน์ชื่อดังจากยุโรป ซึ่งเพิ่งจะมาตั้งออฟฟิศแห่งใหม่กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

วีรภัทร กล่าวว่า ตนเองเดินทางมาทำงานในประเทศมาเลเซียได้ประมาณครึ่งปีแล้ว โดยปัจจุบันตนเองเป็นคนไทยคนเดียวในออฟฟิศแห่งนี้ สาเหตุที่เลือกมาก็เพราะมองว่าตนเองจะได้ฝึกภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมจริงนั้นดีที่สุด ที่สำคัญ ไม่ต้องเสียเงินสำหรับการลงเรียนคอร์สภาษา แถมได้รับค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าทำงานในประเทศไทยประมาณ 2 - 3 เท่าเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ตนมองว่า ภายหลังเปิด AEC คนไทยเริ่มหันมามองประเทศนี้มากขึ้น เพราะบริษัทใหม่ ๆ โดยเฉพาะ อี-คอมเมิร์ซ และบริษัทสายไอทีชื่อดังเริ่มทยอยมาเปิดตัวในมาเลเซียมากขึ้น อย่างเช่น Google, ebay, Amazon หรือ Paypal ก็มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเชื่อว่า อนาคตน่าจะมีคนไทยทยอยมาทำงานที่ประเทศนี้เยอะขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนบริษัทตัวเองแม้ในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะรับคนไทยเพิ่ม แต่เร็ว ๆ นี้ จะมีโปรแกรมฝึกงานสำหรับนักศึกษาไทยที่ต้องการทดลองทำงานในบรรยากาศนานาชาติ ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังตัดสินใจว่าจะมาทำงานที่ต่างประเทศดีหรือไม่ อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับ พัชรินทร์ สุขนาน บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้มาทำงานที่ประเทศแห่งนี้ โดยในตอนแรกคิดว่าการได้ทำงานกับบริษัทต่างชาติ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และน่าตื่นเต้นมากแล้ว การได้มาทำในต่างประเทศก็เป็นเหมือนโบนัสของชีวิตด้วย

ปัจจุบันพัชรินทร์เป็นเทรนเนอร์สอนเทคนิคและปรับทัศนคติเด็ก ๆ ผ่านการจัดค่ายที่เน้นสร้างการเรียนรู้แบบ Speed Learning ให้กับบริษัท SuperChampz โดยเธอกล่าวว่า การทำงานในต่างประเทศ ทำให้เรากล้าคิด กล้าตัดสินใจได้เด็ดขาดมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีคนมาคอยเข้าใจและช่วยเหลือตลอดเวลา รวมทั้งช่วยเปลี่ยนแปลงให้ตัวเธอเปิดตัวเองมากขึ้น และไม่ตัดสินคนที่ภายนอก เพราะบรรยากาศการทำงานแบบหลากหลายวัฒนธรรมทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับใครที่อยากมาทำงานที่มาเลเซีย พัชรินทร์ ฝากว่า ขอแค่เตรียมใจที่จะเปิดรับ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเมืองไทย และก่อนมาก็ศึกษาวัฒนธรรมของบ้านเมืองเค้าให้ดีก่อน อย่างเช่น การรับประทานอาหาร การแต่งกาย สิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้สำนวนว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

อีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจมาทำงานที่มาเลเซีย คือ ฮานาน มะหนับเด็น สาวมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งซัปพอร์ตให้กับบริษัท Sutherland Global Services โดยฮานานเปิดเผยว่า แรกเริ่มเดิมทีทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นได้มีญาติชักชวนให้มาทำงานที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งตนเองมองว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ประเทศแห่งนี้สอดคล้องกับตัวเองจึงตัดสินใจย้ายมาทำงานที่นี่

เธอกล่าวว่า ข้อดีของการมาทำงานที่นี่มีหลายประการ เช่น ค่าตอบแทนที่สูงกว่าไทย หรือสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่เธอคิดว่าดีที่สุด ก็คือ บรรยากาศของการทำงานที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการดำรงชีวิตตามหลักศาสนา เนื่องจากประเทศนี้เป็นประเทศอิสลาม ดังนั้น บริษัทส่วนใหญ่จึงจะเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวมุสลิม เช่นการอนุญาตให้ละหมาดได้ หรือการจัดหาอาหารฮาลาล เป็นต้น ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และมีเงินเหลือเก็บพอที่จะส่งกลับบ้านได้เป็นจำนวนมาก

ฮานาน ทิ้งท้ายว่า การใช้ชีวิตในประเทศมาเลเซียไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนศาสนาอื่น เพราะประเทศนี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ดังนั้น หากมีโอกาสก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่เฉพาะเพียงเงินรายได้ที่สูงกว่าประเทศไทย แต่การได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนหลากเชื้อชาติก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลย

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น