xs
xsm
sm
md
lg

ปัดฝุ่นแนวคิดตั้ง “สภานิติศาสตร์” ดูแลวิชาชีพ กม.ด้านคณบดีนิติฯ ม.ปทุมธานี จ่อยื่นอุทธรณ์พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณบดีนิติศาสตร์ มธ. เล็งฟื้นแนวคิด ตั้งสภานิติฯ ดูภาพรวมคุณภาพการสอนกฎหมาย โดยหากทำจริงต้องเชิญมหา’ลัยที่เปิดสอนกว่า 100 แห่งมาร่วมหารือ ยันไม่เกี่ยวกรณี ก.ต. มีมติไม่รับรอง ป.โท ด้านกฎหมายของ 7 ม.เอกชน และงดวิจารณ์เพราะเป็นเรื่องบริหารภายใน ด้าน คณบดีนิติฯ ม.ปทุมธานี เตรียมทำหนังสืออุทธรณ์มติและถามเหตุผล ระบุที่ผ่านมาหลักสูตรดังกล่าว ก.ต. เคยรับรองแล้วและเปิดมาเกือบ 10 ปี

จากกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติไม่เห็นชอบรับรองหลักสูตรปริญญาโทด้านกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ของ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และให้เพิกถอนการรับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัยจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยตาปี มหาวิทยาลัยปทุมธานี และมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเซีย ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ที่จบปริญญาโทจากทั้ง 7 มหาวิทยาลัยไม่สามารถไปสมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาในสังกัด ก.ต. ได้นั้น

วันนี้ (27 ส.ค.) นายณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า โดยหลักการแล้วผู้ที่มีหน้าที่ในการอนุมัติหลักสูตร การเรียนการสอนระดับปริญญาตรี และโท คณะนิติศาสตร์โดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเมื่อ สกอ. รับทราบหลักสูตรแล้ว การบริหารจัดการที่เหลือจะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ กรณีการไม่เห็นชอบ และเพิกถอนการรับรองหลักสูตรปริญญาโทด้านกฎหมาย ในการสมัครผู้ช่วยผู้พิพากษาของ ก.ต. นั้น ถือเป็นการตรวจสอบของหน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งอาจมีกระบวนการที่ลึกลงไปอีก ถือเป็นสิทธิของหน่วยงานที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สาขาวิชาทางด้านกฎหมาย ยังไม่มีสภาวิชาชีพดูแลในภาพรวม แต่จะมีเฉพาะส่วน อาทิ สภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภาซึ่งดูแลวิชาชีพ ส่วนในระดับที่ดูแลในเรื่องหลักสูตรการเรียนการการสอน ในมหาวิทยาลัย ยังไม่มี เป็นเพียงแนวคิดเมื่อหลายปีที่แล้วกลุ่มของคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งขณะนั้น มีมหาวิทยาลัยรัฐ 7 - 8 แห่งเท่านั้น ที่จัดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าวและเคยมีแนวคิดจะจัดตั้งสภานิติศาสตร์ เพื่อมากำกับดูแลการจัดการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

“ที่ผ่านมา เป็นเพียงแนวคิดที่พูดคุยเบื้องต้นไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทุกวันนี้มีมหาวิทยาลัยเปิดสอนคณะนิติศาสตร์มากขึ้นถึง 100 กว่าแห่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะตั้งเป็นสภานิติศาสตร์จริงๆ ก็ต้องเชิญคณบดีนิติศาสตร์ทั้งหมดมาหารือร่วมกัน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้มาตรฐานการเรียนการสอนในวิชากฎหมายของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น ขอเน้นย้ำว่าที่นึกถึงแนวคิดในการตั้งสภานิติศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้งไม่ใช่ในประเด็นของคณะกรรรมการตุลาการฯ ตรงนั้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของมหาวิทยาลัย จึงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์” นายณรงค์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วิภาส ทองสุทธิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี กล่าวว่า ทาง ก.ต. ได้โทรศัพท์มาแจ้งมติให้ตนทราบแล้ว และวันที่ 28 ส.ค. ตนจะไปทำเรื่องอุทธรณ์ และสอบถามเหตุผลที่ ก.ต. เพิกถอนหลักสูตรปริญญาโทกฎหมายของมหาวิทยาลัย ว่าเพราะอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาหลักสูตรนี้ ก.ต. เคยรับรองไปแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว และมีนักศึกษาจบแล้ว 100 กว่าคน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันหลักสูตรที่เปิดสอนนี้มีคุณภาพแน่นอน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์การขอเปิดหลักสูตร สกอ. และ ก.พ. รับรองด้วย
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น