ส่งคลิปวิดีโอ - คลิปเสียง เป็นหลักฐานมัด ม.เอกชน 2 แห่งจัดการศึกษานอกที่ตั้งไม่มีคุณภาพ “พินิติ” เตรียมส่ง คกก. ลงไปตรวจสอบ ยันพบผิดจริงจะไม่รับรองหลักสูตร แจงยังมีอีกข้อร้องเรียนอีกหลายแห่งกำลังทยอยตรวจสอบ ระบุ อนาคตหากเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมฯ ประกาศใช้อาจมีมหา’ลัยหลายแห่งที่จัดการสอนไม่มีคุณภาพได้รับผลกระทบ
วันนี้ (15 มิ.ย.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับการร้องเรียน ว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชน 2 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร จัดการศึกษานอกที่ตั้งอย่างไม่มีคุณภาพ โดยได้รับหลักฐานเป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และคลิปเสียง ซึ่งเร็วๆ นี้ ตนจะมอบให้คณะกรรมการลงไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็จะต้องดำเนินการตาม กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2551 นั่นคือ กกอ. จะไม่รับทราบหลักสูตร เพราะในการจะเปิดสอนนอกที่ตั้งมหาวิทยาลัยจะต้องเสนอเรื่องมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้ กกอ. รับรองจึงจะเปิดสอนได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหลักสูตรเถื่อนไม่สามารถนำวุฒิการศึกษาไปใช้ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สกอ. ยังได้รับการร้องเรียนการจัดการศึกษานอกที่ตั้งที่ไม่มีคุณภาพอยู่เป็นระยะ และไม่ใช่แค่ ม.เอกชน เท่านั้น แต่มีอีกหลายแห่งส่วนใหญ่เคยมีปัญหามาก่อน อาทิ มหาวิทยาลัยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง สกอ. กำลังทยอยตรวจสอบ ส่วนหลักสูตรที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรการพัฒนาท้องถิ่น
“ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ม.เอกชน ประสบปัญหาขาดตัวป้อน คือ เด็กน้อยลง จึงพยายามทุกอย่างให้เด็กมาเรียน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะ ม.เอกชน เท่านั้น แต่รวมถึง ม.รัฐ ด้วย ว่า ไม่สามารถรับนักศึกษาใหม่ได้ไม่เต็มจำนวน ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เด็กหันไปเลือกเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น ซึ่งผมเคยเน้นย้ำมหาวิทยาลัยมาตลอดว่าจะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยอาจต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติจากกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนไม่ปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับไม่ใช่เปิดนอกที่ตั้งเพื่อดึงคนมาเรียนเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.พินิติ กล่าวและว่า
ทั้งนี้ ขณะนี้ สกอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มข้นมากขึ้น อาทิ คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอก จะต้องมีงานวิชาการต่อเนื่อง 3 - 5 ปี อาจารย์ประจำหลักสูตรต้องมีวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ไม่ใช่จบแล้วมาสอน รวมถึงประธานสอบต้องเป็นบุคคลภายนอกที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี สกอ. เป็นต้น ซึ่งหากเกณฑ์ดังกล่าวประกาศใช้สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการสอนไม่มีคุณภาพจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่