ผลวิจัยชัด “วัยโจ๋” กลัวภาพสูบบุหรี่ทำเซ็กซ์เสื่อมมากสุด ช่วยป้องกันไม่ให้ริเริ่มสูบ พบภาพคำเตือนขนาดใหญ่ ซองบุหรี่แบบเรียบมีผลต่อความกลัว นักวิชาการจี้ไทยประกาศเป็นนโยบาย ด้าน สธ. รอคำตัดสิน WTO ซองบุหรี่แบบเรียนขัดกฎหมายหรือไม่ ก่อนเดินหน้าต่อ
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “Plain Packaging ซองบุหรี่แบบเรียบ นโยบายสาธารณสุขของไทย” ภายในการประชุมวิชาการบุหรี่และสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ว่า การขับเคลื่อนเรื่องซองบุหรี่แบบเรียบในประเทศไทย อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณากรณีบริษัทบุหรี่ฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียนั้น องค์การการค้าโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร หากตัดสินว่าไม่ขัดต่อการค้า ไทยก็จะมาพิจารณาดูร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะมาสนับสนุนเรื่องการกำหนดให้ใช้มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบต่อไป
ศ.ดร.พิมพ์พรรณ ศิลปสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำการศึกษาวิจัยเชิงทดลองในกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษา 1 - 6 และนักเรียนอาชีวะ รวม 1,200 คน ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกำลังสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ และ เคยสูบบุหรี่ โดยนำภาพซองบุหรี่ไปให้กลุ่มทดลองพิจารณา เพื่อศึกษาอิทธิพลของซองบุหรี่ใน 3 ส่วน คือ 1. ลักษณะภาพเตือน มี 2 ภาพ คือภาพผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก และภาพสูบบุหรี่ทำให้เซ็กซ์เสื่อม 2. ขนาดของภาพคำเตือน แบ่งเป็น ขนาด 55% และ 85% และ 3. ลักษณะซอง ที่เป็นซองแบบปกติและซองแบบเรียบ ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ และกำลังสูบรู้สึกกลัวภาพสูบบุหรี่ทำให้เซ็กซ์เสื่อมมากที่สุด รวมถึงขนาดภาพ คือ 85% และลักษณะซองเป็นแบบซองแบบเรียบ ส่งผลต่อความรู้สึกกลัวของกลุ่มที่ทดลอง
“สรุปผลการทดลองได้ว่า ภาพเตือน ขนาดภาพเตือน และลักษณะซองมีอิทธิพลต่อความรู้สึกกลัวในการสูบบุหรี่ของกลุ่มเด็กและเยาวชน และเมื่อนำมาวิเคราะห์ต่อ พบว่า ความรู้สึกกลัว นำมาสู่ความตั้งใจที่จะไม่สูบบุหรี่ พฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่ ไม่ริเริ่มที่จะสูบและหลีกเลี่ยงที่จะสูบ เพราะกลัวที่จะเซ็กซ์เสื่อม หรือป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิตเหมือนในภาพคำเตือน ซึ่งงานวิจัยเชิงทดลองนี้จะสามารถนำมารองรับอย่างเป็นเหตุผลร่วมกับการวิจัยในประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับซองบุหรี่แบบเรียบในการผลักดันให้เกิดซองบุหรี่แบบเรียบในประเทศไทย เนื่องจากมีผลต่อการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่อาจจะมีความจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ไอร์แลนด์ และ ฝรั่งเศส รัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการเรื่องซองบุหรี่แบบเรียบให้เสร็จภายในปีนี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ควรประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนเช่นกัน” ศ.ดร.พิมพ์พรรณ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่