รพ.รามาฯ สร้างแบบประเมินใหม่ ช่วยทำนายความเสี่ยงเกิด “โรคไต” ใน 10 ปี แม่นยำถึง 80% มากกว่าแบบประเมินจากต่างชาติ เหตุพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างกัน ใช้งานเองได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ย้ำ รู้ความเสี่ยงช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนไตวาย ด้าน สธ. เตรียมใช้คัดกรองใน รพ.
วันนี้ (21 ก.ค.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว “การประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทย” ช่วยทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งแต่ปี 2528 ในการเก็บข้อมูลพนักงานกว่า 3,000 คน ซึ่งยังไม่มีการป่วยในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเก็บข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทั้งหมดกว่า 100 ปัจจัย ทั้งอาหารการกิน สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับความเครียด เศรษฐานะ การศึกษา รายได้ ฯลฯ โดยติดตามทุก 5 ปี และ 10 ปี จากนั้นมาดูว่าใครป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง แล้วย้อนกลับไปดูถึงปัจจัยเสี่ยงแต่แรกว่าเกิดจากอะไร จนได้ออกมาเป็นแบบประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการนำไปใช้ในการคัดกรองแล้ว และล่าสุด ได้ทำเป็นแบบประเมินสำหรับโรคไตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความเสี่ยงภาวะไตวายของตัวเอง ว่า มีมากน้อยแค่ไหน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตัวเอง
นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการติดตามมากกว่า 10 ปี ทำให้ทราบว่าปัจจัยเสี่ยงใดที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคไต จึงเลือกเฉพาะตัวที่มีอิทธิพลสูง และประชาชนเข้าถึงข้อมูลง่าย มาพัฒนาเป็นแบบประเมินความเสี่ยง โดยทำเป็น 2 แบบ คือ 1. ใช้ข้อมูลทางคลินิกทั่วไป ประกอบด้วย อายุ เพศ ประวัติโรคเบาหวาน รอบเอว และความดันโลหิต และ 2. ใช้ปัจจัยเสี่ยงเดียวกันแต่เพิ่มผลการเจาะเลือด 2 ตัวคือ ค่าน้ำตาล และค่าการทำงานของไต โดยแบบประเมินชนิดแรกมีความแม่นยำ 70% และแบบที่ 2 มีความแม่นยำ 80% ซึ่งความแม่นยำไม่ได้ 100% เพราะความจริงยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นอีกที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดโรคไต แต่อาจจะนำมาวัดได้ยาก เช่น ความเครียด เป็นต้น โดยจะระบุออกมาว่า มีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ต่อการเกิดภาวะไตเสื่อมระดับที่ 3 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ที่สำคัญ ยังสามารถใช้งานได้ง่าย ซึ่งแบบที่ 1 สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองที่บ้าน และแบบที่ 2 สามารถตรวจได้ที่คลินิกใกล้บ้าน โดยขณะนี้ได้มีการทำแบบประเมินดังกล่างวขึ้นในเว็บไซต์ รพ.รามาฯ http://med.mahidol.ac.th โดยเลือกเข้าไปที่แบบประเมินโรคไต หรือสแกนคิวอาร์โคด สำหรับใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ได้
“ที่ผ่านมา ในต่างประเทศจะมีการทำแบบประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคไต เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งไทยก็เอาแบบประเมินของต่างประเทศมาใช้ แต่มักได้ค่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเชื้อชาติต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน จึงทำแบบประเมินสำหรับคนไทยขึ้นเอง ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ ใช้เวลากว่า 30 ปี ซึ่งแม้จะวิจัยในพนักงาน กฟผ. แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายมาก ทั้งเรื่องของอายุ ระดับการศึกษา ขณะที่อาหารการกิน อากาศ สภาพแวดล้อมก็เป็นเช่นเดียวกับคนไทย จึงทำให้แบบประเมินมีความแม่นยำกว่าเมื่อเทียบกับแบบประเมินของสหรัฐฯ เพราะเคยมีการนำแบบประเมินของสหรัฐฯ และไทย ไปใช้ประเมินคนจีน ก็พบว่า ของไทยมีความแม่นยำกว่า เพราะเป็นคนเอเชียเหมือนกัน” นพ.ปริญญ์ กล่าว
รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า แบบประเมินนี้มีประโยชน์สำหรับคนไทยที่ยังไม่เป็นโรคไต โดยสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองในการเกิดโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า หากประเมินพบว่าตนเองมีความเสี่ยงสูง จะช่วยเตือนให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คุมอาหารเค็ม คุมน้ำตาล ในกรณีที่เป็นเบาหวาน หรือวัดความดัน รับประทานยาความดันอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจติดตามการทำงานของไตกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแบบประเมินยังมีประโยชน์สำหรับแพทย์ในการที่จะเลือกติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด หากจะเปรียบเทียบแบบประเมินนี้ก็คล้ายการไปดูดวง ถ้าดวงไม่ดี ก็อาจไปทำบุญเพื่อให้ดวงดีขึ้น
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) สธ. กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างภาระให้กับตัวผู้ป่วยและระบบสุขภาพของประเทศ เพราะต้องมีการล้างไตต่อเนื่อง ปัจจุบันความชุกของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันประมาณ 1 - 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีปัญหาโรคไตร่วมด้วย ข้อมูลจากสมาคมโรคไตพบมียอดผู้ป่วยโรคไตกว่า 7 แสนคน ดังนั้น หากสามารถวินิจได้แต่เริ่มต้นก็จะทำให้รู้ความเสี่ยงของตัวเอง และสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ คาดว่า แบบประเมินความเสี่ยงตัวใหม่จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนสนใจและเข้าถึงการคัดกรองมากขึ้น เพราะแม้จะทราบว่าตัวเองกินหวาน กินเค็ม มีความดัน แต่ก็ไม่ได้เห็นชัด ๆ ว่า จะก่อให้เกิดโรคอะไรตามมาอีกบ้าง แต่การมีตัวคัดกรองเช่นนี้ออกมาจะช่วยให้เห็นชัดเจนว่าถ้ายังทำเช่นนี้ต่อไปต้องเป็นโรคแน่นอน ทั้งนี้ สธ. จะเอาแบบประเมินความเสี่ยงโรคไตไปพิจารณาใช้คัดกรองประชาชนเช่นเดียวกับเครื่องมือการคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่