xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : รพ.รามาฯ สร้างแบบประเมินความเสี่ยงโรคไต รู้ล่วงหน้า 10 ปี แม่นยำถึง 80% ตรวจได้ด้วยตัวเองผ่านออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดแถลงข่าว "การประเมินความเสี่ยงโรคไตในคนไทย” เพื่อช่วยทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยการประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2528 ในการเก็บข้อมูลพนักงานกว่า 3,000 คน ซึ่งยังไม่มีการป่วยในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเก็บข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทั้งหมดกว่า 100 ปัจจัย ทั้งอาหารการกิน สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับความเครียด เศรษฐานะ การศึกษา รายได้ ฯลฯ โดยติดตามทุก 5 ปี และ 10 ปี จากนั้นดูว่าใครป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง แล้วย้อนกลับไปดูปัจจัยเสี่ยงแต่แรกว่าเกิดจากอะไร จนได้ออกมาเป็นแบบประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือด และล่าสุดได้ทำเป็นแบบประเมินสำหรับโรคไตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความเสี่ยงภาวะไตวายของตัวเอง ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตัวเอง

ด้าน นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการติดตามมากว่า 10 ปี ทำให้ทราบว่าปัจจัยเสี่ยงใดที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคไต จึงเลือกเฉพาะตัวที่มีอิทธิพลสูง และประชาชนเข้าถึงข้อมูลง่าย มาพัฒนาเป็นแบบประเมินความเสี่ยง โดยทำเป็น 2 แบบ คือ 1. ใช้ข้อมูลทางคลินิกทั่วไป ประกอบด้วย อายุ เพศ ประวัติโรคเบาหวาน รอบเอว และความดันโลหิต 2. ใช้ปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน แต่เพิ่มผลการเจาะเลือด 2 ตัวคือ ค่าน้ำตาล และค่าการทำงานของไต

โดยแบบแรกมีความแม่นยำ 70% และแบบที่ 2 มีความแม่นยำ 80% ซึ่งความแม่นยำไม่ได้ 100% เพราะความจริงยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เกี่ยวข้องในการทำให้เกิดโรคไต แต่อาจนำมาวัดได้ยาก เช่น ความเครียด เป็นต้น โดยจะระบุออกมาว่า มีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ต่อการเกิดภาวะไตเสื่อมระดับที่ 3 ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ที่สำคัญสามารถใช้งานได้ง่าย โดยแบบที่ 1 สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองที่บ้าน และแบบที่ 2 สามารถตรวจได้ที่คลินิกใกล้บ้าน ขณะนี้ได้มีการทำแบบประเมินดังกล่าวขึ้นในเว็บไซต์ รพ.รามาฯ http://med.mahidol.ac.th โดยเลือกที่แบบประเมินโรคไต หรือสแกนคิวอาร์โคด สำหรับใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ได้

รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า แบบประเมินนี้มีประโยชน์สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรคไต หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงสูง จะช่วยเตือนให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คุมอาหารเค็ม คุมน้ำตาล ในกรณีที่เป็นเบาหวาน หรือวัดความดัน รับประทานยาความดันอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจติดตามการทำงานของไตกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแบบประเมินยังมีประโยชน์สำหรับแพทย์ในการเลือกติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างภาระให้กับผู้ป่วยและระบบสุขภาพของประเทศ เพราะต้องมีการล้างไตต่อเนื่อง ข้อมูลจากสมาคมโรคไตพบมียอดผู้ป่วยโรคไตกว่า 7 แสนคน ดังนั้น หากสามารถวินิจได้แต่เริ่มต้นจะทำให้รู้ความเสี่ยงของตัวเอง และสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ สธ.จะนำแบบประเมินความเสี่ยงโรคไต ไปพิจารณาใช้คัดกรองประชาชนเช่นเดียวกับเครื่องมือการคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 188 สิงหาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น