xs
xsm
sm
md
lg

“สมัชชาแม่น้ำ” ล่องเรือ-เสวนาค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ซัด สจล.ตั้งธงเดินหน้ามีปัญหาแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่น้ำเจ้าพระยา - นักวิชาการ เอ็นจีโอ ประชาสังคม ผนึกพลังบริษัทเดินเรือจัดตั้ง “สมัชชาแม่น้ำ” คัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาของรัฐบาล ประเดิมจัดล่องเจ้าพระยานำสมาชิกเครือข่ายและสื่อ ล่องเรือสำรวจพื้นที่สองฝั่งโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา จากท่าเรือสาทร ไปสะพานพระราม 7 รองอธิการ มธ. จี้ สจล. ไม่ควรตั้งธงเดินหน้า แนะต้องฟังเสียงประชาชนก่อน หวั่นมีปัญหาตามมา ด้านฝ่ายศึกษาโครงการเตรียมเสนอร่างแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 12 แผนงาน และ EIA ภายในเดือนกันยายนนี้

โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ระยะทางสองฝั่งรวม 57 กิโลเมตร (สะพานพระราม 7 - บางกระเจ้า) ซึ่งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติรับทราบการจัดทำแนวคิดและการออกแบบเบื้องต้นของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 ครม. มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 14,000 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นเส้นทางสัญจร ทางขี่จักรยาน และสันทนาการของประชาชน แต่เมื่อมีกระแสเสียงคัดค้าน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ กทม. ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดทำแผนแม่บทโครงการและออกแบบรายละเอียดโครงการช่วงแรกระยะทาง 14 กิโลเมตร (สะพานพระปิ่นเกล้า - สะพานพระราม 7) งบประมาณ 120 ล้านบาท ระยะเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2559 นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly) ซึ่งเป็นเครือข่ายคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้จัดกิจกรรม “นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา” โดยนำนักวิชาการ อาจารย์ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ล่องเรือจากท่าเรือสาทร เขตบางรัก ไปยังบริเวณมัสยิดบางอ้อ เขตบางพลัด เพื่อสำรวจพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน ซึ่งขณะที่เรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการจัดเสวนาบนเรือ โดยมีนักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการเข้าร่วมหลายคน เช่น นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์, นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, นายพิภพ ธงไชย, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายมาโนช พุฒตาล, นายขวัญสรวง อติโพธิ, ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ฯลฯ

ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมเวทีเสวนาทั้งหมดแสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ คือ การขาดผังแม่บทของการพัฒนา ประชาชนมองไม่เห็นภาพรวมของการพัฒนา, ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปในลักษณะของการนำผลของการตัดสินใจมาประชาสัมพันธ์ต่อชุมชน, มีการบิดเบือนข้อมูลว่าชุมชนเห็นด้วยต่อการพัฒนาซึ่งไม่เป็นความจริง การก่อสร้างใด ๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนริมน้ ำซึ่งเป็นมรดกทางวัฒธรรมที่สำคัญ ควรจะมีการประเมินผลกระทบก่อนการออกแบบ

นอกจากนี้ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ยังมีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และไม่มีตัวแทนของสมาคมวิชาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ขณะเดียวกัน รูปแบบการใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาท ยังขาดความชัดเจน เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายรุกล้ำลำน้ำตามกฎกระทรวงว่าด้วยการปลูกสร้างริมน้ำต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ฯลฯ

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่มีแล้ว แต่การจะทำโครงการใด ๆ ที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน ก็จะต้องประเมินผลกระทบและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน ดังนั้น การทำโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาจึงต้องถามประชาชนก่อน ไม่ใช่แค่แจ้งให้ทราบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีข้อมูลที่เพียงพอ ไม่ใช่การมีธงก่อนแล้วค่อยไปแจ้งประชาชน

“สจล. อาจจะคิดว่าไม่มีมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว แต่ศาลปกครองเคยตัดสินมาแล้วว่า สิทธิอันนี้เป็นสิทธิที่ชนชาวไทยเคยมีตามประเพณีการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะอนุมัติโครงการ เพราะหากไม่มีกระบวนการรับฟังอย่างแท้จริง รวมถึงการศึกษา ผลกระทบอย่างแท้จริง เมื่ออนุมัติไปก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน สจล. ควรจะเป็นคนกลาง ต้องฟังข้อมูลจากทุกด้าน เอาข้อมูลมานำเสนอว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ไม่ใช่มีแต่ข้อดีเพียงด้านเดียว” นายปริญญา กล่าว

นายปริญญา ยังกล่าวว่า เรื่องใหญ่มากของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เจ้าพระยาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม บ้านเรือนริมแม่น้ำที่หลากหลาย การที่จะไปทำโครงการให้เกิดถนนหรือทางเรียบเป็นโครงสร้างวิศวกรวิ่งเรียบไปสองฝั่ง คือ การทำลายต้นทุนของตัวเอง

สำหรับ “สมัชชาแม่น้ำ” เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน (Ngo) ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ), มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สยามสมาคม, เครือข่ายต่อต้านการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา, กลุ่มกรีนพีซ ฯลฯ ส่วนภาคธุรกิจเอกชนที่สำคัญ เช่น สมาคมเรือไทย, บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา, บริษัท สยามริเวอร์ครุยซ์, บริษัท นัมเบอร์วันเฟอร์รี่ ซึ่งมีธุรกิจเดินเรือและท่องเที่ยว รวมทั้งร้านอาหารและที่พักบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ รวมแล้วมีสมาชิกกว่า 40 องค์กร เริ่มเปิดตัวเมื่อเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายสำคัญคือ การรวมพลังทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการออกแบบและจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมีส่วนร่วม และยั่งยืน

ทางด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานครให้ทำการศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaopraya The River For All) ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2559 ใช้งบประมาณจำนวน 120 ล้านบาท โดย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน คณะทำงานได้ลงพื้นที่ครบทั้ง 33 ชุมชนแล้ว ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ทั้งในด้านการมีส่วนร่วมและโบราณคดีชุมชน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกับกรมศิลปากรและคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ทั้งสองฝั่ง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจคุณค่าและนำไปสู่การอนุรักษ์สืบสานมรดกวัฒนธรรมต่อไป

ส่วนความคืบหน้าด้านการออกแบบนั้น คณะทำงานได้จัดทำร่างแนวคิดผังแม่บทระยะทาง 57 กิโลเมตร และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า - สะพานพระราม 7 ภายใต้แนวคิด “นาคนาม” (นาค-คะ-นาม) ซึ่งมีความหมายถึง การเชื่อมโยงทางจินตภาพของพญานาค ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนไทย และชาวตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพแห่งสายน้ำและท้องฟ้า สื่อถึงพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นท้องน้ำเจ้าพระยา ในการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสืบสานวิถีริมน้ำวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชน โดยจะนำเสนอที่ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นจะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแบบให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ คาดว่า การออกแบบพื้นที่ชุมชนหลายแห่งจะทยอยเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กันยายน 2559 นี้

“คณะทำงานได้นำเสนอร่างแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ12 แผนงาน รวม 238 โครงการ ประกอบด้วย 1. แผนงานจัดทำทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2. แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 3. แผนงานพัฒนาท่าเรือและจุดบริการสาธารณะ 4. โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5. แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ 6. โครงการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ 7. โครงการปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8. โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9. แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10. แผนงานพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 11. แผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 12. แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน” รศ.ดร.สกุล กล่าว

การศึกษาสำรวจพื้นที่ริมฝั่ง 14 กิโลเมตรของ สจล. พบว่า 80 - 90% มีโครงข่ายถนนที่ทับโครงข่ายน้ำเดิม คณะทำงานได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงข่ายน้ำที่จะแก้ไขปัญหาน้ำขังรอการระบาย รวมทั้งการถ่ายเทระบบนิเวศ จึงมีแนวคิดดึงระบบโครงข่ายน้ำเดิมกลับมาในพื้นที่โดยทำท่อระบายน้ำ ระบบคลองใต้ถนน บูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวความคิดสมัยใหม่เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ รายงานขั้นสุดท้าย และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ และพร้อมนำเสนอต่อ กทม. และคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนนี้

สำหรับความคืบหน้างานวิศวกรรมนั้น จะรองรับตามรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ของฝ่ายสถาปัตยกรรมตามลักษณะของพื้นที่สำหรับชุมชนบางแห่งทางเดินจะอยู่บนพื้นดิน ส่วนโครงสร้างทางเดินที่จำเป็นต้องอยู่ริมน้ำจะวางใกล้แนวเขื่อนเดิมและทางเดินยื่นออกมาริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังได้ศึกษารูปแบบเสาแบบสปันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. แบบเสาเดียว ทีสแปน หรือระยะห่าง 10 - 20 เมตร รับน้ำหนักได้ 150 - 200 ตัน โดยพื้นที่ทางเดินจะกว้างประมาณ 5 - 7 เมตร ขึ้นอยู่กับกายภาพในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ มีบางชุมชนฝั่งธนบุรีที่เห็นด้วยและต้องการให้ทำทางเดินในลักษณะโฟลตติ้ง หรือลักษณะของแพลอยน้ำ ซึ่งคณะทำงานกำลังศึกษาอีกครั้งว่าจะเป็นแพชนิดใดที่จะอยู่นิ่งและไม่ลอยไปตามคลื่นกระแสน้ำ

ทางด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานระยะเวลา 1 ปี (มีนาคม 2559 - กุมภาพันธ์ 2560) เพื่อรองรับด้านที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น

นายจีรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถึง สะพานพระราม 7 พบว่า มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยารวม 9 ชุมชน ประมาณ 252 ครัว เรือน ซึ่ง พอช. ได้จัดประชุมชาวบ้านในแต่ละชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง

“จากการสอบถามความต้องการของชาวบ้าน และการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยของ พอช. พบว่า มีแนวทางในการรองรับด้านที่อยู่อาศัยอยู่ 4 แนวทาง คือ 1. ย้ายขึ้นแฟลตกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 2. ซื้อที่ดินเอกชนเพื่อสร้างบ้านใหม่ 3. หาที่อยู่อาศัยของการเคะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร และ 4. ขอรับเงินเยียวยาและหาที่อยู่อาศัยเอง” นายจีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับแฟลต ขส.ทบ. นั้น ตั้งอยู่ใกล้กับรัฐสภาใหม่บริเวณสี่แยกเกียกกาย เป็นแฟลต 5 ชั้น 2 อาคารเชื่อมต่อกัน รวมทั้งหมด 64 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องละ 51 ตารางเมตร เดิมเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการ ขส.ทบ. และต่อมาสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ขอใช้แฟลต ขส.ทบ. เพื่อเป็นที่พักสำหรับข้าราชการรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาจึงมอบแฟลตให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับชาวชุมชนเขียวไข่กา, ปากคลองบางเขน และวัดสร้อยทอง รวม 40 ห้อง รวมทั้งรองรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 ชุมชนคือ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า 19 ห้อง และชุมชนริมไทร 5 ห้อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซมแฟลต คาดว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเริ่มเข้าอยู่อาศัยได้ โดยต้องจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 1,001 บาท

นอกจากนี้ ยังมีบ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำหนัก) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อยู่ห่างจากสะพานพระปิ่นเกล้า ประมาณ 30 กิโลเมตร ยังมีห้องว่างสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้หลายสิบครอบครัว ซึ่งการเคหะฯ ได้ลดราคาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาจากราคายูนิตละ 420,000 บาท เหลือ 400,000 บาท ขนาดพื้นที่ประมาณ 30 ตารางเมตร สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และที่ดินเอกชนบริเวณอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี ขนาดเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ราคาขายประมาณ 12 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายที่ดิน

สำหรับงบประมาณช่วยเหลือชาวบ้านในการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่นั้น นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า พอช. จะสนับสนุนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท โดยแยกเป็น 1. อุดหนุนที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 25,000 บาท และ 2. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 50,000 บาท และ 3. งบบริหารจัดการครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 รายการดังกล่าว พอช. ไม่ได้จ่ายให้ชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะอยู่ในรูปของงบอุดหนุน เช่น หากชาวบ้านจะไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. ทาง พอช. ก็จะอุดหนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (ค่าซ่อมแซมระบบไฟฟ้า, ประปา, ซ่อมห้อง) ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี, ค่าประกันล่วงหน้า 3 เดือน ส่วนค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 1,001 บาท ชาวบ้านจะต้องจ่ายเองส่วนในกรณีที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างบ้าน พอช. จะสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินครัวเรือนละ 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี รวมทั้งยังมีงบอุดหนุนที่อยู่อาศัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 80,000 บาท (เช่นเดียวกับผู้ที่จะย้ายขึ้นแฟลต ขส.ทบ.และไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด)

“สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยตามแนวทางดังกล่าว หรืออยากจะหาที่อยู่อาศัยเอง ขณะนี้ทาง พอช.กำลังขอความชัดเจนจากทางรัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้อย่างไร เช่น รับเงินเยียวยาแล้วย้ายออกจากพื้นที่ไปเลย” นายจีรศักดิ์ กล่าว

ส่วนในกรณีที่รัฐบาลอาจจะไม่ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปนั้น นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของ พอช. ก็คือ ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินโครงการนี้ต่อ แต่ชาวบ้านก็จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ว่าจะเช่าแฟลต ซื้อแฟลต หรือสร้างบ้านใหม่ เพราะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่รื้ออีกต่อไป พอช. ยังมีภารกิจที่จะสนับสนุนชาวบ้านต่อไปนอกเหนือจากเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น การสนับสนุนเรื่องอาชีพ เศรษฐกิจ สวัสดิการชุมชน ฯลฯ ซึ่งก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนต่อไปได้ด้วยชาวชุมชนเอง

สำหรับชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวน 9 ชุมชน รวม 252 ครัวเรือน คือ เขตบางซื่อ 1.ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ( 12 ครัวเรือน) 2.ชุมชนวัดสร้อยทอง (14 ครัวเรือน) เขตบางพลัด 3.ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี ( 10 ครัวเรือน) เขตดุสิต 4.ชุมชนเขียวไข่กา ( 21 ครัวเรือน) 5.ชุมชนศรีคราม (10 ครัวเรือน)

6.ราชผาทับทิม ( 32 ครัวเรือน) 7.ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม (32 ครัวเรือน) 8.ชุมชนมิตรคาม 1 (66 ครัวเรือน) 9.ชุมชนมิตรคาม 2 (55 ครัวเรือน) นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนองค์การทอผ้า (19 ครัวเรือน) และชุมชนริมไทร ( 5 ครัวเรือน) ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้จะรวมอยู่ในแผนงานที่อยู่อาศัยของ พอช.ด้วย รวมทั้งหมด 11 ชุมชน( 276 ครัวเรือน) ใช้งบประมาณรวม 125 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น