xs
xsm
sm
md
lg

ลบคำครหา! ดัน “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” สู่มรดกโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก็แค่โครงการรุกล้ำธรรมชาติ ทำลายแม่น้ำเจ้าพระยา, มีแต่จะสร้างทัศนะอุจาดให้กรุงเก่า ตลอดเส้นทาง 14 กิโลเมตร, ไม่มีใครให้ค่ามากไปกว่าโปรเจกต์คอมมิวนิสต์ ไม่รับฟังเสียงประชาชน และไอ้โครงการนี้แหละที่จะทำให้ประเทศไทยชวดรางวัล “มรดกโลก” ฯลฯ

ท่ามกลางคลื่นความคิดลูกโตของพี่น้องชาวไทยที่โหมเข้าใส่ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งฟันธงคำสั่งจากรัฐบาลมาแล้วว่า จะต้องสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ ส่งให้เกิดแรงต้านขนานใหญ่กลางกรุง โดยเฉพาะจาก เครือข่าย “Friends of the River FOR” ที่ขอกัดฟันเรียกโครงการนี้ว่า “ทางด่วนแม่น้ำเจ้าพระยา” กล่าวกันว่าบริษัทที่รับออกแบบคือบริษัทรับจ้างทำทางด่วนให้ กทม. จึงเอาดีไซน์ของการทำถนนมาออกแบบ แถมยังจะตอกเสาเข็มภายใต้คลื่นค้านลูกใหญ่ของประชาชนอีกต่างหาก!!

แต่ไม่ว่าคลื่นความเห็นต่างในวันนี้จะแบ่งออกเป็นกี่สาย หรือคำอธิบายเหล่านี้จะช่วยทลายกำแพงของคนที่ยืนค้านอยู่อีกฝั่งได้หรือไม่ “อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ” หัวเรือใหญ่ผู้รับผิดชอบโครงการระดับประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ก็ขอตอบทุกข้อสงสัยในประเด็นร้อนเอาไว้ในบทสัมภาษณ์นี้แล้ว!!



ได้เวลา “ผ่าตัดกรุงเทพฯ”!!

[แนวพัฒนานำร่อง เริ่มที่ 14 กม.]
Q: จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีโครงการนี้?
A: ถ้าเปรียบกรุงเทพฯ เป็นร่างกายของเรา และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดใหญ่ ตอนนี้ก็เท่ากับว่าเส้นเลือดฝอยในร่างกายได้ตายไปเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ได้แล้วครับ เลยมีความจำเป็นที่เราต้องเริ่มทดลองผ่าตัดเส้นเลือดส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งก็หมายถึงพื้นที่ทดลองริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ฝั่งสะพานพระราม 7 ไปจนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งละ 7 กม. รวมสองฝั่งเป็น 14 กม. เพื่อทำให้มันเข้ากับระบบต่างๆ ในร่างกาย

เพราะตอนนี้ร่างกายของเราเต็มไปด้วยสารเคมี เต็มไปด้วยเส้นทางตัดต่ออะไรเยอะแยะเต็มไปหมดแล้ว แต่ถ้าการผ่าตัดบนพื้นที่จำลองตรงนี้ออกมาดี เราก็จะใช้มันเป็นโมเดลในการผ่าตัดส่วนอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ต่อด้วย ซึ่งตามแผนที่วางไว้ในข้อกำหนดแล้ว คือระยะทางทั้งหมด 57 กม. ซึ่งหมายถึงตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งในการผ่าตัดครั้งต่อๆ ไป ยังต้องดูเรื่องระบบต่างๆ ของร่างกายอีกเยอะเลยครับ แต่ตอนนี้เราแค่กำลังพยายามผ่าตัดแบ่งเป็นส่วนๆ เท่าที่จะทำได้

ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ มันตายไปหมด เป็นเพราะแม่น้ำและคูคลองที่เคยมีอยู่เดิมถูกถมทับทำถนนจนเกือบจะหมดแล้ว กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราอยู่กันด้วยระบบถนน เหลือทางเดินน้ำแค่ท่อระบายน้ำ มีทางลงเล็กๆ เป็นตะแกรงไว้ให้ พอฝนตกหนักๆ แค่ชั่วโมงเดียวน้ำก็ท่วมแล้ว ซึ่งท่อระบายน้ำพวกนั้นก็เล็กเกินไปและสกปรกมาก จะมุดลงไปเก็บขยะอะไรก็ไม่ได้ แล้วพอมีอะไรอุดตันมองไม่เห็น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่สร้างเป็นคูคลอง มองเห็นได้หมด จัดการก็ง่าย

[“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ที่วาดฝันไว้ | ขอบคุณภาพ: chaophrayaforall.com]

จะเห็นเลยว่าธรรมชาติของผืนดินตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัย สายน้ำทุกสาย รวมถึงคูคลองเล็กๆ จะเป็นเส้นเลือดของแผ่นดิน แล้วพอวันนี้ เรามาแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วยการทำท่อขนาดใหญ่ขึ้นมา มันเลยไม่สามารถช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้

แต่การผ่าตัดผ่านโครงการพัฒนาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการออกแบบที่เรียกว่า “Eco Based Design” ครับ คือออกแบบโดยตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจในความเป็นไปของสรรพสิ่ง บวกรวมกับความคิดเห็นของชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำด้วย เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมา และคล้อยตามความเป็นไปในธรรมชาติให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆ คือเรากลับมาใช้วิธีน้อมไปกับธรรมชาติเหมือนในอดีต

Q: กำลังจะบอกว่าระบบจัดการน้ำที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ มันผิดหมดเลยอย่างนั้นหรือ?
A: ต้องบอกว่า ที่ผ่านมา เรา “ลองผิด” กันเองด้วยวิถีทางใหม่ๆ กันมาเยอะมากแล้วมากกว่าครับ มันก็ถึงเวลาแล้วที่จะดึงเอาความรู้จากบทเรียนของคนรุ่นเก่ากลับมาศึกษาอีกครั้ง คือเราจะไม่ “เนรคุณต่อแม่น้ำเจ้าพระยา” อีกต่อไปแล้ว เราจะไม่สร้างอะไรขึ้นมาเพื่อซ้ำเติมท่านให้เส้นเลือดของท่านตายเพิ่มอีกแล้ว


ผมไม่ได้บอกว่า ผมปฏิเสธระบบถนนนะครับ แต่ถ้าสร้างมันถูกต้องจริงๆ เฉกเช่นเดียวกับที่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำไว้ให้เราเห็นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น บริเวณสวนจิตรลดา ถ.ศรีอยุธยา ฝั่งที่ติดสนามม้านางเลิ้ง ตรงนั้นเดิมเป็นถนนแค่ 4 เลน ต้องการจะขยายถนน คนอื่นๆ มองว่าต้องถมน้ำเพื่อทำถนนเพิ่ม แต่ท่านบอกไม่ให้ถม ท่านให้ทำถนนคร่อมแม่น้ำไปเลย คือตั้งเสาขึ้นมาแล้วสร้างคร่อม จึงทำให้คลองตรงนั้นยังได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ได้

และเพื่อให้เรากลับมา “ลองถูก” กันได้อีกครั้งหนึ่ง งานนี้ทางลาดกระบังฯ ของเราเป็นหลักร่วมกับ ม.ขอนแก่น ในการทำโครงการนี้ เราเริ่มศึกษากันมาตั้งแต่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จาก จ.นครสวรรค์ และส่วนที่เลยกรุงเทพฯ ไปจนถึง จ.สมุทรปราการ เลยไปจนถึงอ่าวไทยเลยครับ จำเป็นต้องศึกษาให้ครอบคลุมเพื่อให้ได้คำตอบว่า เราจะไม่ต่อแนวเขื่อนกันน้ำท่วมกันอีกต่อไปแล้ว แต่จะกลับไปพิจารณาเรื่องกั้นบริเวณปากแม่น้ำ หรือตรงอ่าวไทยแทน


ตัวอย่างในต่างประเทศดีๆ ที่หยิบมาใช้ได้ก็คือ “เมืองเวนิช” ที่เขาทำเขื่อนกั้นน้ำบริเวณอ่าวเมืองเวนิชเลย โดยสร้างออกมาในลักษณะ “เขื่อนลอยน้ำ” เพื่อปรับระดับน้ำไม่ให้ท่วมเข้ามาในตัวอ่าวของเมืองได้ โมเดลนี้จะสามารถดูแลไปได้อีก 3-4 ลุ่มน้ำ คือ เจ้าพระยา, บางปะกง, ท่าจีน และ แม่กลอง ไม่ใช่แค่เฉพาะเมืองหลวงที่เดียว เป็นโมเดลที่ดีที่สุดแต่ก็แพงที่สุดด้วย เพราะจะไปดูเรื่องน้ำกันถึงปากอ่าวไทยเลย

คือถ้าเราอยู่กับธรรมชาติไม่ได้ เราก็ต้องรื้อ เพราะต่อให้ฝืนอยู่ยังไงก็อยู่ไม่ได้ ลองนับจากวันนี้ไปอีก 84 ปี น้ำจะท่วมขึ้นมาอีก 2 เมตร เท่ากับว่าที่อยู่อาศัยกันทุกวันนี้ ชั้นที่เคยเป็นชั้นล่างสุดจะใช้ไม่ได้เลย หรืออย่างในหนังเรื่อง 2012 ที่น้ำท่วมโลก จะเห็นเลยว่าสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาสุดท้ายที่ยังอยู่ได้ก็คือ “เรือ” ครับ ซึ่งเป็น Floating Structure เพราะฉะนั้น ทางแก้ปัญหาในอนาคตก็คือการ “อยู่กับน้ำ” อย่างที่บรรพบุรุษเคยลองถูกเอาไว้ให้แล้ว



พัฒนา หรือ ทำลาย?

[ฝั่งไม่เห็นด้วย ประกาศขอรายชื่อคัดค้านโครงการผ่าน change.org]
Q: เห็นว่าบนพื้นที่พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่โครงการออกแบบไว้ ต้องมีส่วนสร้างล้ำลงไปในแม่น้ำด้วย นี่คือสาเหตุหลักใช่ไหมที่ทำให้ถูกกระแสต้านอย่างหนักจากนักอนุรักษ์ เพราะมองกันว่าเป็นการทำลายธรรมชาติมากกว่า?
A: (พยักหน้ารับ) ใช่ครับ คนคิดว่าเราจะสร้างสิ่งก่อสร้างที่จะรุกเข้าไปในธรรมชาติ และสิ่งก่อสร้างนั้นก็ใหญ่มาก เป็นถนนขนาดใหญ่เลย เลยทำให้เกิดกระแสต่อต้านหนักมากในช่วงแรกๆ และภาพตรงนี้ก็กลายมาเป็นภาพจำของโครงการนี้มาโดยตลอด ซึ่งจะให้สลายไปโดยทันทีก็คงยาก ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว มันเปลี่ยนไปตั้งแต่ที่ทางกรุงเทพฯ มาเชิญทางลาดกระบังฯ กับทาง ม.ขอนแก่น เข้ามาร่วมแล้วครับ

ตอนแรก ตัวโครงการจะมีลักษณะเหมือนถนน แต่จริงๆ มันคือทางเดินและทางจักรยาน ที่สร้างเป็นโมเดลมาตรฐานเอาไว้ให้ดูว่า เวลาแผ่นดินมาจรดน้ำแล้ว ภาพจะออกมาเป็นแบบนี้นะ แต่ก็ล้มเลิกโมเดลนั้นไปนานแล้วครับ เหลือแค่เรื่องทางเดิน-ทางจักรยาน ซึ่งผมมองว่ามีได้ ผมไม่ได้รู้สึกต่อต้านเลย เพราะเราสามารถใช้ความสามารถของดีไซเนอร์ด้านสถาปัตย์เก่งๆ ช่วยออกแบบให้กลมกลืนไปกับสถานที่ได้


เรื่องที่คนกังวลกันในประเด็นถัดไปก็คือ เขาไม่เห็นด้วยว่าเราจะไปสร้างพื้นที่ล้ำเข้าไปในน้ำ เป็นเพราะไปเข้าใจกันว่าถ้าสร้างสิ่งก่อสร้างไปในน้ำ มันจะไปชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งเป็นการเข้าใจวิถีของน้ำในที่ราบผิดครับว่าน้ำมาต้องไหลเร็ว แต่จริงๆ แล้ว ภูมิประเทศแบบนี้ที่อยู่บริเวณป่าชายเลน พื้นที่ที่อยู่ปากแม่น้ำ ริมตลิ่ง อยู่บนแผ่นดินแบบนี้ มันมีหน้าที่ช่วยหน่วงน้ำไว้ เพื่อไม่ให้น้ำจืดไหลลงไปโดยเร็ว ถ้าไปศึกษาดูจะเห็นว่าพื้นที่แบบนี้ทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมดเลย

แต่ทุกวันนี้ เราเข้าใจธรรมชาติไปอีกแบบหนึ่ง เราเลยไปดัดแปลงธรรมชาติให้น้ำเหนือที่ไหลมา ไหลผ่านไปโดยเร็ว เพราะมองว่าเราไม่อยากอยู่กับน้ำแล้ว ซึ่งถามว่าเราไม่อยากอยู่กับน้ำจริงๆ เหรอ? วันดีคืนดีฝนตกน้อยก็แล้งอีก มันเป็นความเข้าใจผิดของเรามาจนถึงทุกวันนี้ แต่คนโบราณเข้าใจธรรมชาติของน้ำถูก เขาเลยพยายามสร้างทุกอย่างเพื่อหน่วงน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลช้าไว้ ซึ่งเราต้องกลับมาทำแบบนี้ให้ได้ และต้องแก้ทั้งระบบ

Q: แล้วส่วนที่สร้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำในกรุงเทพฯ อย่างที่หวังได้มากน้อยแค่ไหน?
A: ผมไม่ได้หวังว่าโครงการนี้จะแก้อะไรได้ แต่ผมว่าโครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงแนวคิดภาพใหญ่ที่เราควรจะต้องมอง เช่น เราต้องอยู่กับธรรมชาติแบบ “น้อม” เพราะเราจะใหญ่กว่าธรรมชาติไม่ได้

ผมอยากให้คนได้มาเรียนรู้ว่า ตัวเขื่อนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้และร่องน้ำอย่างนี้ มันทำลายธรรมชาติ และมันก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบผิดๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม มันไม่ใช่คำตอบ เราเลยต้องสร้างโมเดลใหม่ด้วยการรื้อเขื่อนกันน้ำออก แล้วแทนด้วยสิ่งที่บรรพบุรุษทำมาให้แล้ว คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำกันใหม่ แล้วก็สร้าง “คันกันน้ำท่วม” เลียนแบบธรรมชาติเข้าไป ซึ่งจะต่างจากรูปแบบเขื่อนที่เป็นอยู่

เราจะสร้างเป็นคันดินเลียนแบบที่เคยมีในเมืองรัตนโกสินทร์เดิม แล้วเสริมความแกร่งด้วยเสาเรือน ต้นไม้ ก็จะทำให้คันดินไม่ทลายไปง่ายๆ แถมยังได้ธรรมชาติกลับมาด้วย ยิ่งถ้าเลือกปลูกต้นลำพูมาค้ำไว้ ยิ่งจะได้หิ่งห้อยกลับมาให้เราได้รื่นรมย์ด้วย

นอกนั้น เราก็จะรื้อฟื้นคลองที่เราเคยมีขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มันกลายเป็นพื้นที่ถนนไป 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้ว มันควรจะต้องปรับแก้ให้ถนนไม่ถมทับที่ทางน้ำอีกต่อไป คือใต้ถนนต้องเป็นพื้นที่คลองเหมือนเดิม แล้วสร้างถนนคร่อม ไม่ใช่แค่มีอุโมงค์เพิ่มขึ้นมา 3-4 ที่นะครับ แต่ต้องรื้อเกือบทุกพื้นที่ที่เคยเป็นคลอง


[ปัญหาที่มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้เรื่อง "การจัดการน้ำ" ที่แก้ไม่ตกเสียที]
แล้วต่อไป ถ้าเราจะอยู่เป็น “มนุษย์บก” อยู่บนถนนต่อไปก็ไม่เป็นไร แต่เรามีคลองมาช่วยรับน้ำแทนท่อระบายน้ำกระจิริดที่มีอยู่นี้ได้แล้ว มันก็จะช่วยแก้เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่เราบ่นๆ กันอยู่ได้ ผมว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องออกแบบเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการรองรับน้ำ ไม่ใช่ใช้ท่อระบายน้ำมาตรฐานเดียวกับทุกมุมของเมืองอย่างทุกวันนี้

Q: จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีทางจักรยานเป็นแนวยาวขนาดนั้น?
A: บอกตรงๆ ว่าเราไม่ได้มองมันเป็นทางเดินหรือทางจักรยานเลยครับ ไอ้ทางริมฝั่งแม่น้ำ 14 กม.ตรงนี้ แต่เรามองว่ามันคือพื้นที่ที่เรากำลังปรับปรุง เนื่องจากบ้านหลังนี้มันถูกน้ำท่วม มีทั้งน้ำท่วมขัง ทั้งน้ำเน่า และน้ำที่จะหลากเข้ามาท่วมทุกปี เราคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้บ้านหลังนี้อยู่ให้ได้อย่างดี แล้วจากนั้นค่อยไปตอบโจทย์ว่า บนพื้นที่ตรงนี้ จะขอให้เป็นทางจักรยานหรือทางเดินเท้าไปด้วยได้ไหม

[แรงต้านจากฝั่งอีกฝั่ง ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการยักษ์ใหญ่นี้ | ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Friends of the River"]

[จำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต | ขอบคุณภาพ:แฟนเพจ "Friends of the River"]

ตอนนี้ เราตอบโจทย์ลูกชายที่อยากมีทางจักรยานให้ขึ้นไปขี่บนบ้าน เราตอบโจทย์คุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีบ่อน้ำ อยากมีทางเดินในส่วน และกำลังพยายามจะตอบโจทย์ลูกสาว หรือแม้แต่คุณปู่คุณย่าที่อยู่ในบ้านเดียวกัน และจะตอบโจทย์คนที่อยู่บ้านข้างๆ ให้ได้ด้วยว่าเขาอยากได้อะไรอีก และนี่แหละครับคือเหตุผลที่เราต้องลงชุมชน

ส่วนเรื่องของธรรมชาติ เราต้องสังเกตท่าน โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมสังเกต เบื้องต้นคือเราจะต้องรื้อเอาเขื่อนออกทั้งหมด และต้องทำคันกั้นเมืองบกที่จำเป็นเข้าไปแทน ซึ่งคันที่สร้างขึ้นใหม่นี้ จะต้องอยู่บนแนวธรรมชาติให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเรากำลังจะฟื้นธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางออกแบบที่เราต้องยึดไว้

เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าวันนี้เราเรียกร้องหาผักสะอาดปราศจากสารพิษ เราก็ต้องปลูกผักกินเอง และถ้าเราเรียกร้องวิถีชีวิตแบบออแกนิก นี่แหละครับ Organic Based Design ที่ท่านต้องการ นี่คือสิ่งที่เราพยายามนำเข้ามา จากนั้นเราก็จะตอบโจทย์ทางเดิน-ทางจักรยานเป็นลำดับถัดไป หลังจากที่ทุกอย่างได้รับการฟื้นฟูจนอยู่ได้แล้ว เพื่อให้มันเข้ากับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน

[คำถามจากอีกฝั่งที่ฝากไว้ให้คิด | ขอบคุณภาพ:แฟนเพจ "Friends of the River"]


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยในเรื่องการสร้างทางจักรยาน เพราะผมมองว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มองไปถึงอนาคตได้ ในวันที่เราไม่อยากใช้พลังงานหรือพลังงานหมดแล้ว จักรยานคือคำตอบ ผมเลยไม่อยากให้เราไปตั้งแง่รังเกียจ เพราะจักรยานที่วิ่งบนเส้นทางนี้ คงไม่ได้ขี่กัน 10 กม./ชม. แน่ๆ เผลอๆ ผมว่าคนที่พยายามขี่ 20 กม. แล้วผ่านชุมชนสวยๆ เขาชะลอจนถึงขั้นจอดดูเลยด้วยซ้ำ มันเลยน่าจะมีตั้งแต่ขี่จักรยาน จูงจักรยาน ไปจนถึงจอดทิ้งไว้แล้วลงเดิน หรืออาจจะเห็นการเดินแล้วแบกจักรยานด้วยก็ได้ ผมว่าจะมีภาพน่ารักๆ อีกเยอะเลยที่จะเกิดขึ้นหลังการพัฒนาในครั้งนี้

[เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ | ขอบคุณภาพ: chaophrayaforall.com]
ผมเชื่อว่าถ้าเรามีพื้นที่ที่ดี คนที่มาใช้ก็น่าจะมองเห็นความดีของมันตรงนั้น แม้แต่ลาน 14 กม. หรือจากทั้งโครงการ 57 กม.ตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา มันจะเกิดขึ้นมาโดยมีวัดและวังเป็นแกนทั้งนั้นเลย ซึ่งวัดคือแกนด้านจิตใจ ส่วนวังคือแกนหลักจากผู้ปกครองแผ่นดิน ผมจึงมองว่า การฟื้นฟูโครงสร้างตรงนี้ของเมืองของบ้านเรากลับเข้ามาใหม่ จะช่วยนำเอาสิ่งใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆ ของผู้คนกลับเข้ามาด้วย นี่แหละครับคือภาพที่เราฝันไว้



รางวัล “มรดกโลก” ตั้งไว้! “ได้” คุ้ม “เสีย” แน่นอน!!

[ความงดงามที่มีในวันนี้ จะถูกทำลายลงไปหรือไม่? คือสิ่งที่พี่น้องชาวไทยกังวลใจทั้งประเทศ | ขอบคุณภาพ: www.horonumber.com/news-900]
Q: วิจารณ์กันว่าโครงการนี้จะทำให้เกิด “ทัศนะอุจาด” ในเมืองกรุงเก่า อาจารย์คิดเห็นอย่างไร และจะช่วยคอนเฟิร์มได้ไหมว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น?
A: ผมว่าเป็นเพราะเขาวิพากษ์กันบนฐานโมเดลเดิมมากกว่าครับ เป็นภาพโครงการตั้งแต่รุ่นที่ยังออกแบบเป็นถนนคอนกรีตอยู่ ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับว่าถ้าสร้างตามแบบนั้น มันจะก่อให้เกิดทัศนะอุจาด เพราะกลุ่มที่วิจารณ์ในส่วนนี้ เขาก็เป็นคนทำงานด้านภูมิสถาปัตย์และเป็นนักผังเมืองกันทั้งนั้น

แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ เรามองปัญหาเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ เพราะเรามองว่าเรากำลังจะปรับปรุงบ้านของเราไงครับ เพราะฉะนั้น การสร้างทางเดิน-ทางจักรยานขึ้นมาเพิ่มตรงนี้ จะไม่มีวันไปทำลายบ้านของเราเด็ดขาด แต่เราจะมองการออกแบบครั้งนี้ให้อยู่ภายใต้กรอบการปรับปรุงบ้านเราให้สวย ให้อยู่ได้ เราถึงต้องมีการศึกษาแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ไงครับว่า มีความงดงามแตกต่างกันยังไงบ้าง

อย่าง “ชุมชนมัสยิดบางอ้อ” ที่เราไปลงพื้นที่ เขาก็เห็นภาพแล้วว่า เราจะพัฒนาบ้านก่อน แล้วให้เขาช่วยวางเส้นทางจักรยานให้เรา ถ้าเขาไม่อยากให้วางทางนั้น เราก็มีทางเลือกให้ แต่เราขอเส้นทางที่จะให้ตัวชุมชนและคนอื่นได้ใช้ด้วยได้ไหม โดยที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก อันนี้คือเป้าหมายของเราเลย และผมก็เชื่อว่า ทุกท่านที่ได้เห็นภาพนี้ไปด้วยกันก็อยากจะพัฒนา เพราะไม่มีใครที่ไม่อยากพัฒนาหรอกครับ

[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Friends of the River"]

ปัญหาเจ้าพระยาทุกวันนี้ เราได้ทำ Cultural Heritage Assessment เป็นการศึกษาเอาไว้หมดแล้วว่า สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันมันดีอยู่หรือเปล่า ถ้ามันดีอยู่จริง เราก็จะได้ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร แต่ผลที่ออกมาในวันนี้คือมันไม่ดีแล้ว เราเลยต้องลงมือทำโครงการนี้

และการลงมือทำของเรา เราก็เอาความงามด้าน “มรดกเจ้าพระยา” เป็นตัวตั้งของโครงการด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ช่วยดูแลเป็นที่ปรึกษาให้ คือคุณริชาร์ด เอนเกลฮาร์ดต์ (Dr.Richard A. Engelhardt) ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล “มรดกโลก” ประจำยูเนสโกระดับเอเชียแปซิฟิกมาก่อน เพราะฉะนั้น การจะทำตรงนี้ให้เป็นมรดก เราจำเป็นจะต้องสร้าง “กฎเจ้าพระยา” ขึ้นมา เพื่อรักษามรดกตรงนี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ 14 กม.แรก เพื่อให้เห็นเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปอย่างยั่งยืน


Q: มีคนกังวลว่าโครงการนี้จะทำให้ต่างชาติมองว่าประเทศไทยไม่รักษา “มรดกเจ้าพระยา” และจะทำให้ชวดการเสนอกรุงเก่าเข้าลุ้น “มรดกโลก” อย่างที่ฝันไว้
A: ผลมันกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลยครับ เพราะวันนี้เราตั้งมรดกโลกไว้เป็นธงอยู่แล้ว ตั้งแต่ได้รับโครงการนี้มา ผมก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตลอด ตั้งแต่เกณฑ์เรื่องการพิจารณาคุณค่ามรดกโลก ไปจนถึงการนำเสนอโครงการมรดกโลก และเราก็เอาเกณฑ์ตรงนั้นแหละครับมาเป็นกรอบในการพัฒนาในครั้งนี้ มันจึงไม่มีวันจะหลุดกรอบไปได้เลย และกรอบนี้แหละที่จะช่วยในการหล่อหลอมความคิดของคนทำงาน ให้พุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นการตั้งถิ่นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยเราวันนี้ เป็นมรดกโลกให้ได้!!


และเรายังตั้งคำว่า “มรดกโลก” ไว้ 2 ประเด็นด้วยนะครับ แบบแรกคือ “มรดกโลกทางกายภาพ” ซึ่งหมายถึงมรดกโลกตามเกณฑ์ความสวยงามทั่วๆ ไป และแบบที่สองคือ “มรดกความทรงจำโลก” หรือ Memories of The World ซึ่งหมายถึง “วัดโพธิ์” และองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้เราได้เริ่มประสานไปที่องค์กร ซึ่งทำงานเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมในระดับอาเซียนเอาไว้แล้ว มันคือธงที่เรามุ่งหมายว่าต้องไปให้ถึง

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงครับ เราจะไม่มีวันทำร้ายมรดกในส่วนนี้เด็ดขาด เพราะเราเอาสิ่งนี้มาเป็นฐานความรู้ ฐานประสบการณ์ และฐานบทเรียน ที่จะไม่ทำร้ายแม่น้ำเจ้าพระยาอีก เรื่องมลภาวะและทัศนะอุจาดจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีวันที่เราจะยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน!!

[เรื่องทัศนะอุจาดและการบดบังทัศนียภาพที่อีกฝั่งกังวล]

เราตั้งต้นทุกอย่างจาก “คุณค่า” ก่อน แล้วค่อยสร้างสิ่งที่เหมาะสมขึ้นมาดูแลคุณค่าเหล่านั้น แต่กฎหมายเราหลายๆ อย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการฟื้นฟูคุณค่านั้นๆ มันเลยทำให้ทางผมและทีมกำลังคิดกันอยู่ว่า อาจจะต้องมีกฎหรือกฎหมายเฉพาะบางอย่างเพื่อดูแลมรดกเจ้าพระยาตรงนี้ เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้ยังคงสวยงาม ทรงคุณค่า ทำประโยชน์ให้แก่คนยุคปัจจุบัน และทำให้พื้นที่สำคัญตรงนี้อยู่ได้อย่างงดงามและยั่งยืน

และถึงแม้สุดท้าย ผลออกมาว่าเราชวดมรดกโลก โครงการที่ออกมาอาจจะดีไซน์ได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไอ้ 14 กม.นี้ออกแบบมาแล้วอาจจะมีปัญหาก็ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีองค์ความรู้เรื่องน้ำที่จะเก็บเอาไว้ใน ทั้งเอาไว้ใช้ใน “ศูนย์การเรียนรู้มรดกเจ้าพระยา” ที่เราใช้เป็นตุ๊กตาและเอามาใช้งานจริงในวันนี้ กับ “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้มรดกเจ้าพระยา” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการถาวรในวันข้างหน้า พร้อมๆ กับพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และทางเดิน-ทางจักรยานในครั้งนี้


[ความฝันในวันข้างหน้า | ขอบคุณภาพ: chaophrayaforall.com]

ศูนย์การเรียนรู้ทั้งสองแห่งนี้ จะช่วยตอบสิ่งที่เราทำ และช่วยส่งเสริมการทำงานของคนที่มารับช่วงต่อ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา, องค์กร และประชาชน ก็จะได้มาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการศึกษา ซึ่งผมมองว่ามันคือประโยชน์ในระยะยาว องค์ความรู้ที่เก็บไว้ในศูนย์นั่นแหละครับคือสิ่งที่จีรัง ไม่ว่าผลของโครงการจะออกมาเป็นยังไง เราจะเก็บความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียน จากแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

และในปีนี้ เป็นปีที่ในหลวงของเราครองราชย์ครบ 70 ปี ทางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะสำนักโยธาฯ อยากจะทำอะไรถวาย และในวันนี้ เราทำในสิ่งที่พระองค์ท่านเชี่ยวชาญ ทำในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ เราก็เลยคุยกันว่าเราจะนำเอาพิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยาฉบับนำร่องถวายพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะของบจากทาง กทม. สร้างถวายพระองค์ท่านด้วย เราก็หวังว่าพื้นที่ที่จะสร้างถวายท่าน จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เรา “ได้” มากกว่า “เสีย” แน่นอน!!



[ไม่ว่าจะได้รางวัลระดับโลกหรือไม่ เจ้าพระยาก็คือ "มรดก" ในใจคนไทยตลอดกาล | ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Friends of the River"]


Friends of the River คำถามจากริมน้ำ14กม. from Friends of the River (FOR) on Vimeo.


[คำถามจากริมน้ำ 14 กม.ที่ต้องรอติดตามคำตอบกันต่อไป!!]

สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Chao Phraya for All", chaophrayaforall.com, แฟนเพจ "Friends of the River" และ dsignsomething.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- #RiverNotRoad ได้โปรด..“หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา” ก่อนหายนะ!!?




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น