กรมวิทย์ตรวจยีนเสี่ยงผื่นแพ้ยารุนแรงได้ 3 ชนิด เผย มี 2 รพ. ส่งตรวจก่อนให้ยา พบอัตราการแพ้มี 10% ชี้ เปลี่ยนยาในผู้มีความเสี่ยงช่วยลดอัตราผื่นแพ้ยารุนแรงได้ พร้อมร่วม ม.เอกชน ในอินโดฯ พัฒนาการตรวจยีนเสี่ยงแพ้ยาที่เหมาะสมกับคนอินโดฯ เหตุมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าไทย
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนัง (Stevens-Johnson Syndrome : SJS และ Toxic Epidermal Necrolysis :TEN) สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ต้องมีการรักษาภาวะแทรกซ้อน กระทบความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และต้องมีการเยียวยาแก่ผู้เสียหาย ทั้งนี้ การตรวจเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อดูว่าผู้ป่วยมียีนเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพ้ยาหรือไม่ก่อนเริ่มการให้ยา ถือเป็นวิธีป้องกันตามนโยบายการใช้ยาสมเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ กรมฯ สามารถให้บริการตรวจการแพ้ยาได้ 3 ชนิด คือ การตรวจยีน HLA-B*1502 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยา “carbamazepine” ที่ใช้รักษาโรคลมชัก ยีน HLA-B*5801 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยา “allopurinol” ที่ใช้รักษาโรคเกาต์ และยีน HLA-B*5701 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยา “Abarcavir” หรือยาต้านไวรัส
“ขณะนี้มีเพียงโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม. ที่เห็นความสำคัญของการส่งตรวจเภสัชพันธุศาสตร์ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มใช้ยา โดย รพ.พุทธชินราช ส่งตรวจจำนวน 308 ตัวอย่าง และ รพ.นพรัตนราชธานี ส่งตรวจจำนวน 169 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามีโอกาสแพ้ยาประมาณ 10% ซึ่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะได้รับยาทางเลือกในการรักษา ทำให้อัตราการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงลดลง สธ. จึงจะมีการขยายการให้บริการไปยังโรงพยาบาลอื่น ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ลำพูน รพ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ และโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยในการให้ยา” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมฯ โดยศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Yasri ประเทศอินโดนีเซีย ศึกษาวิธีการพัฒนาตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยชาวอินโดนีเซีย เพราะคนอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากที่สุดในภูมิภาค การตรวจยีนแบบทึ่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย จึงมีความไวน้อยในคนอินโดนีเซีย และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมหาวิทยาลัย Yasri ต่อไป เพื่อนำไปป้องกันการแพ้ยารุนแรงของคนอินโดนีเซีย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่