xs
xsm
sm
md
lg

กม.บัตรทองฉบับแก้ไข แยก “เงินเดือน” ออกจากงบรายหัว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.สธ. สนช. ชี้ กม. บัตรทองอุปสรรคทำงาน หนุน ม.44 ผ่าทางตัน เผย พ.ร.บ. หลักประกันฯ ฉบับแก้ไขแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ช่วยเห็นงบประมาณแท้จริงในระบบ รพ. ใช้พอหรือไม่ พื้นที่ประชากรน้อยไม่ต้องพะวงหักเงินเดือนจนขาดทุน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (ปธ.กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ก็เพื่อแก้อุปสรรคการตีความการใช้งบกองทุนบัตรทองของคณะกรรมการกฤษฎีกาในบางประเด็น ที่ระบุว่า โรงพยาบาล สธ. ไม่สามารถใช้ได้ แต่ในทางปฏิบัติ สธ. ก็ยังคงให้ใช้อยู่ ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ การใช้มาตรา 44 จึงเป็นการผ่าทางตันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายคือ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น ขณะนี้ได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับแก้ไข โดยมีการแก้ไขในมาตรา 46 ที่เดิมกำหนดให้รวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขเข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในฉบับแก้ไขนั้นได้แยกเงินเดือนออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง

“บางพื้นที่ที่มีประชากรน้อย เมื่อหักเงินเดือนออกมาแล้ว พบว่า ไม่มีเงินรายหัวเหลือเลย เรียกว่าขาดทุนตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วควรมีเงินเหลือให้ รพ. ดำเนินการบ้าง อย่างไรก็ตาม การรวมเงินเดือนเข้ามานั้นเป็นการรวมเพียงตัวเลขเท่านั้น แต่ก็ต้องมีการแยกออกมาให้เห็นชัดเจน เพราะจะทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแท้จริงแล้วใช้งบประมาณเท่าไร พื้นที่ไหนใช้งบเท่าไร พื้นที่ไหนมีงบหรือไม่มีงบเลย ใช้พอหรือไม่พอ เพื่อที่ปีต่อ ๆ ไปจะได้แก้ไขให้ได้รับการจัดสรรเงินอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ประชากรน้อย และหวังว่า จะได้รับงบประมาณเพิ่ม โดยไม่ต้องพะวงกับเงินเดือนเหมือนปัจจุบัน” นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันฯ ฉบับแก้ไข อยู่ระหว่างการส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา และตีความว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ ถือเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ถ้าใช่ อาจต้องส่งให้ สธ. เป็นผู้เสนอแทน ซึ่งจะตีความแล้วเสร็จเมื่อไรนั้นอยู่ที่การประชุมเมื่อไร คาดว่า อาจเป็นช่วงใน 1 - 2 สัปดาห์นี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น