อย. เผยรู้ “สถานพยาบาล” ขายยาลดอ้วนออนไลน์ให้สาวญี่ปุ่นแล้ว ย้ำ ขายยาผ่านเน็ตผิดกฎหมาย อย่าเชื่อแม้อ้างเป็นยาจาก รพ. ชื่อดัง กสทช. ห่วงชอปปิ้งยาลดอ้วนผ่านเน็ตสุดง่าย ค้นผ่านกูเกิล 0.55 วิ ข้อมูลโผล่ 5 แสนกว่ารายการ แนะดูเลข ฆอ. อนุญาตโฆษณาอาหาร เพิ่มจากเลข อย. หากไม่มีถือว่าอันตราย
จากกรณีสื่อประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าวสาวญี่ปุ่นซื้อยาลดความอ้วนจากตัวแทนจำหน่ายของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต มารับประทานจนเสียชีวิต โดยรัฐบาลและวงการแพทย์ญี่ปุ่นได้ออกมาเตือนให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการซื้อยาจากต่างประเทศมากินเอง
วันนี้ (29 มิ.ย.) ในเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ผอมผ่านเน็ต ภัยร้ายใกล้ตัว” ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้พอจะทราบข้อมูลสถานพยาบาลที่มีพฤติกรรมการขายยาทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ซึ่ง อย. จะร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ สถานพยาบาลที่มีการจำหน่ายยาด้วยนั้น จะต้องมีใบอนุญาต 2 ใบ คือ ใบอนุญาตเปิดสถานพยาบาลจาก สบส. และใบอนุญาตจำหน่ายยาจาก อย. แต่ก่อนจ่ายยาต้องมีการตรวจคนไข้ก่อนทั้งสิ้น ดังนั้น การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต แม้จะอ้างชื่อสถานพยาบาลก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยงและอันตรายทั้งสิ้น เพราะไม่มีการตรวจร่างกายคนไข้ก่อน ขณะที่แต่ละคนจะมีความไวต่อการใช้ยาไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาแพ้ยา บางคนมีโรคประจำตัว ห้ามรับประทานยาบางประเภท หรือมีปัญหาเรื่องลดประสิทธิภาพของตัวยา ที่สำคัญ การขายยาทางอินเทอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) กล่าวว่า ยาลดความอ้วนถือว่าเป็นยาที่ผลิตมาเพื่อฆ่าเราโดยเฉพาะ เพราะใส่สารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยกลุ่มที่เรียกว่า “ยาชุด” นั้น ไม่เคยมีสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะยาชุดลดความอ้วน ที่อ้างว่ากินแค่ 2 แคปซูล แต่เมื่อแยกแคปซูลออกไปจะพบยาหลายเม็ด ซึ่งพบว่ามีการผสมยาระบาย ยากระตุ้นระบบประสาท ยาขับปัสสาวะ ซึ่งการใส่ยามาเป็นจำนวนมาก เพื่อลดปัญหาจากการใช้ยาอีกตัวในชุด ที่บอกว่ากินโดยไม่เป็นอันตรายจึงโกหกทั้งนั้น เช่น เมื่อร่างกายขับปัสสาวะออกมามาก ทำให้สูญเสียโพแทสเซียม และโซเดียม จึงมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือการผสมยารักษาโรคไทรอยด์ ยากดความอยากอาหาร ซึ่งจะมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วตลอดเวลา ทำให้หัวใจวายเสียชีวิตได้ จึงพบว่ามักมีการผสมยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้า ยากล่อมประสาท เป็นต้น
ผศ.ดร.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์ดิจิตอลของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้สื่อออนไลน์สูงขึ้นมาก โดยสินค้าที่นิยมซื้อทางออนไลน์อันดับแรกคือ สินค้าหมวดแฟชั่น รองลงมาคือ อุปกรณ์ไอที และสุขภาพและความงาม เฉลี่ย 2.6 ครั้งต่อเดือน ซึ่งปัญหาหนึ่งคือ การจำหน่ายสินค้าสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะยาลดความอ้วนถือว่าเข้าถึงง่ายมาก เพียงพิมพ์คำว่า “ยาลดความอ้วน” เพียง 0.55 วินาที ก็พบกว่า 5.6 แสนรายการ และยังพบการขายผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าชื่อดังด้วย หากค้นหาในหมวดรูปก็จะเจอภาพในลักษณะการโฆษณาและโอ้อวดผิดกฎหมาย ค้นจากวิดีโอก็จะเจอคลิปการโฆษณาและรีวิวการขาย ขณะที่ค้นหาแผนที่ก็จะเจอแหล่งจำหน่ายจำนวนมาก
“ยาลดความอ้วนหลายตัวที่พบในอินเทอร์เน็ตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ อย. เคยอนุญาตขึ้นทะเบียน มีการแสดงเลข อย. แต่ไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ใดที่แสดงเลขที่อนุญาตการโฆษณาอาหาร (ฆอ.) เลย ซึ่งหากได้รับเลข ฆอ. คือ ได้รับการอนุญาตการโฆษณาจาก อย. แล้ว ซึ่งการไม่แสดงเลขที่ ฆอ. ก็บ่งบอกชัดว่า น่าจะเป็นการโฆษณาผิดกฎหมาย ดังนั้น หากไม่มีเลข ฆอ. ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาว่าไม่ควรเลือกซื้อสินค้าดังกล่าว ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารไม่สามารถโฆษณาว่าบรรเทา รักษาอาการต่าง ๆ ได้ การลดความอ้วนก็เช่นกัน ดังนั้น ประชาชนเองต้องมีความรู้ด้วย หากรู้แล้วยังไปซื้อมารับประทานก็ควรพิจารณาตัวเองด้วย” ผศ.ดร.ภญ.สุนทรี กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่