โฆษก กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ แจงร่วมถกกูเกิล หาทางแก้ปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ พร้อมขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.คอมพ์ แก้ปมอุปสรรคเน้นให้สังคมใช้สื่ออย่างมีอารยะ แนะตรวจสอบโค้ดของวิดีโอ ขจัดเว็บผิดกฎหมาย ตัวแทนกูเกิลห่วง พ.ร.บ.คอมพ์ยังคลุมเครือ เตรียมรวบรวบจุดอ่อนส่งต่อ กมธ. พร้อมยอมรับคนทำงานน้อยกว่าข้อมูล แต่น้อมรับไปพัฒนา
วันนี้ (15 ม.ค.) นายอภิชาต จงสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงภายผลการประชุมของ กมธ.ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องแนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อออนไลน์ และส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยได้เชิญผู้แทนจากบริษัท กูเกิล เอเชียแปซิฟิก จำกัด มาให้ข้อมูล
นายอภิชาตกล่าวว่า ทาง กมธ.ได้สอบถามแทนกูเกิลเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายในไทย ที่ผ่านขั้นตอนโดยคำสั่งศาลมาแล้วว่ามีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยตัวแทนบริษัท กูเกิล แจ้งว่าที่ผ่านมาได้ประสานงานให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตลอด หากมีการร้องขอผ่านกระบวนการก็จะดำเนินการถอดเว็บที่ผิดกฎหมายนั้นทันที โดยมีทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยบริษัทมีสัญญาข้อตกลงกับผู้ใช้สื่อที่จะเผยแพร่ข้อความที่ต้องยอมรับและตรวจสอบต่อไป และกูเกิ้ลยังมีมาตรฐานการคัดกรองเว็บไซต์ เพราะเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน โดยจะไม่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน หากตรวจพบก็จะถอดออกและยกเลิกสัญญาทันที ส่วนกระบวนตรวจสอบนั้น หากได้รับการร้องขอจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามที่แจ้งมาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากมีคำสั่งศาลด้วยก็จะง่ายขึ้น และคำนึงเสมอว่าเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์บางประเด็นเป็นเรื่องอ่อนไหวมากในสังคมจึงระมัดระวังอย่างมาก แต่หากมีการประสานและร่วมมืออยู่เสมอการแก้ปัญหาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ทางตัวแทนกูเกิลชี้แจงด้วยว่า ปัจจุบันการส่งข้อมูลเป็นวิดีโอ เช่น ยูทิวบ์ ทั่วโลกใน 1 นาทีจะมีการอัปโหลดผ่านโซเชียลมีเดียมีความยาวกว่า 500 ชั่วโมง จึงยากมากที่จะตรวจสอบได้ทุกเรื่องเพราะเจ้าหน้าที่มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับข้อมูลมหาศาลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เราจึงเสนอให้ตรวจสอบจากโค้ดของวิดีโอจะทำให้พบปัญหาง่ายขึ้นและป้องกันการย้าย URL ในการแสดงวิดีโอนั้นด้วย ทางกูเกิลก็รับไปพัฒนา”
สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์นั้น ทางบริษัท กูเกิล ให้การสนับสนุนโดยร่วมโครงการต่างๆ กับสถาบันศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมายไทยนั้นอยากให้ไทยหาข้อมูลสรุปให้ได้ก่อนแล้วยื่นข้อเสนอต่อกูเกิลให้ดำเนินการผ่านช่องทางหน่วยงานใดก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากจะเพิ่มหน่วยงานติดต่อก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ โดยกูเกิลจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังมีข้อกังวลต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ยังคงไม่ชัดเจนว่าเรื่องใดทำได้หรือไม่ได้บ้าง เช่น การให้ผู้สร้างแฟลตร่วมรับผิดชอบต่อเว็บไซต์ผิดกฎหมายด้วยนั้น ไม่น่าเป็นเรื่องดี เพราะโดยทั่วไปผู้สร้างแฟลตย่อมไม่รู้ว่าผู้ใช้จะอัปโหลดอะไรสู่เว็บไซต์จึงยากที่จะให้ร่วมรับผิดชอบด้วย แต่ก็เข้าใจว่าการทำธุรกิจต้องควบคู่กับธรรมาภิบาล โดยกูเกิลจะทำเป็นหนังสือถึงข้อกังวลต่างๆ ให้แก่คณะกรรมาธิการ โดยเราจะนำมาใช้ประกอบในการจับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค์ต่างๆ โดยเร็วที่สุด