xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนสนใจ “ยุงลายหมัน” หลังไทยวิจัยสำเร็จ ปล่อยสู่ธรรมชาติวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาเซียนป่วยไข้เลือดออกปีละ 4 แสนราย ตาย 2 พันราย สธ. เผย ชาติอาเซียนสนใจงานวิจัย ม.มหิดล ปล่อยยุงลายหมันควบคุมลูกน้ำ จับตาประสิทธิผลหวังต่อยอดใช้ภาพรวมระดับประเทศ ชูรณรงค์ในโรงเรียนส่งความรู้ควบคุมโรคไข้เลือดออกถึงพ่อแม่ผ่านเด็ก

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กทม. นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) โดยปีนี้มีคำขวัญวันรณรงค์ว่า “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกปีละประมาณ 400,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 2,000 ราย โดยเฉพาะ มิ.ย. เป็นหน้าฝน หลายพื้นที่ฝนตก มีน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ ทำให้จำนวนยุงเพิ่มขึ้น จึงมีการกำหนดวันไข้เลือดออกอาเซียนขึ้น ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิ.ย. ของทุกปี เพื่อให้ทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนร่วมรณรงค์ไปพร้อมกัน เพราะการควบคุมโรคไข้เลือดออกจะทำเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ต้องทำร่วมกัน ยิ่งมีการเปิดประชาคมอาเซียน ประชากรมีการเดินทางไปมา อาจทำให้เกิดการระบาดได้

นพ.ธวัช กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวแต่ละชาติจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปีนี้เป็นประเทศไทย โดยมีการเชิญตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิธีการดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออก รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งประเทศไทยได้เสนอและถ่ายทอดนวัตกรรม คือ แอปพลิเคชันพิชิตลูกน้ำยุงลาย สำหรับประชาชนทั่วไป และแอปพลิเคชันทันระบาด สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนได้ให้ความสนใจในนวัตกรรมของ ม.มหิดล ซึ่งทำการวิจัยการทำหมันยุงลาย เพื่อควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลาย และลดการเกิดโรคไข้เลือดออก ซึ่งวันที่ 15 มิ.ย. ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ไปทำการปล่อยยุงลายที่เป็นหมันออกสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ทดลอง

“การศึกษาดังกล่าวยังต้องวิจัยอีกระยะหนึ่งว่าได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยนี้ เพราะหากได้ผลจริงก็จะมีการพิจารณาว่าจะมีการนำมาใช้ดำเนินงานในภาพรวมแบบทั้งประเทศได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่มีลักษณะต่าง ๆ ก็ต้องศึกษาในเรื่องบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย รวมไปถึงยังต้องดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย คือ มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ส่วนโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดขอให้เข้มงวดการตรวจรักษาโรคไข้เลือดออกตามแนวทางการตรวจรักษาที่ได้จัดทำไว้” นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวว่า สำหรับการมารณรงค์ในโรงเรียนถือว่ามีความสำคัญ เพราะต้องเข้าใจว่าในชุมชน พ่อแม่ก็ออกไปทำงานนอกบ้าน ลูกก็มาเรียนหนังสือ การดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอาจทำได้ไม่ดีนัก แต่การมาให้ความรู้กับนักเรียน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ให้เด็กไปบอกต่อกับผู้ปกครอง ซึ่งกว่า 100% พ่อแม่ผู้ปกครองมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกพูด และที่สำคัญคือ การควบคุมโรคไข้เลือดออกทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน คือ หลักการของประชารัฐ ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และรัฐ ต้องต่อสู้กับโรคนี้ร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 - 14 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 18,337 คน เสียชีวิต 16 คน กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า ในปี 2559 นี้จะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 166,000 คน



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น