xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมใหม่กรมควบคุมโรคปล่อย “ยุงทำหมัน” ที่แปดริ้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา-กรมควบคุมโรค นำยุงลายทำหมัน จากผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ลงสู่พื้นที่หมู่บ้านทดลอง กลางชุมชนในป่าแปดริ้ว ท่ามกลางความสนใจของนานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ เผยเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ หากทำสำเร็จจะช่วยลดการแพร่พันธุ์ของยุงลายเพื่อลดปัญหาการระบาดของเชื้อไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อ และการติดเชื้อไวรัสซิกา

วันนี้ (15 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงเรียนบ้านหนองสทิต เลขที่ 82 ม.11 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา กรมควบคุมโรค นำโดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันนำยุงลายตัวผู้ที่ผ่านการฉีดเชื้อแบคทีเรียไวลบาเกีย และฉายรังสีแกมมา ให้เป็นหมัน มาทำการปล่อยออกสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง เพื่อเป็นการนำร่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน ครั้งที่ 6 (15 มิ.ย.59)

ทั้งนี้ เพื่อให้ยุงลายตัวผู้ที่ถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติไปผสมพันธุ์กับยุงลายตัวเมียที่อยู่ในธรรมชาติ จนทำให้ไข่ฝ่อ ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณลูกน้ำยุงลายลดลง เพื่อเป็นการลดการแพร่เชื้อไข้เลือดออก โดยจะมีการประเมินผลต่อเนื่องเป็นระยะ ซึ่งโครงการนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยหากประสบความสำเร็จจะช่วยลดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ลดปัญหาการระบาดของเชื้อไข้เลือดออก สามารถควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะได้ เช่น ไข้ปวดข้อ และการติดเชื้อไวรัสซิกา

ในวันนี้ ได้มีผู้แทนจากเอ็นจีโอ ผู้แทนจากหน่วยงาน IAEA ประเทศออสเตรีย และ IDRC ประเทศแคนาดา ตลอดจนผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียรวม 15 ประเทศ มาร่วมเป็นสักขีพยาน และปล่อยยุงลายหมันตัวผู้พร้อมกัน

ขณะที่สถานศึกษาในท้องถิ่นได้มีการจัดกิจกรรมร่วมรณรงค์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันไข้เลือดออก ด้วยการให้เด็กๆ แต่งกายด้วยชุดแฟนซียุงลาย ที่มีความน่ารักหลากหลายแตกต่างกันออกไป




กำลังโหลดความคิดเห็น