กรมควบคุมโรค หนุน “ทำหมันยุงลาย” ช่วยควบคุมปริมาณยุง - ไข้เลือดออก ชี้ เป็นวิธีเสริมจากมาตรการหลัก ตั้งคณะทำงานศึกษาร่วม ม.มหิดล แนะเตรียมความพร้อมชุมชนก่อนนำร่องปล่อยยุงเป็นหมันออกธรรมชาติ ย้ำยุงในพื้นที่ต้องมีอัตรา 10 ตัวต่อ 1 บ้าน ก่อนปล่อยยุงเป็นหมัน 100 ตัวต่อ 1 บ้าน
จากกรณีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวประสบความสำเร็จงานวิจัยการทำหมันยุงลาย 2 ขั้นตอนเป็นแห่งแรกของโลก ด้วยการฉีดเชื้อแบคทีเรียโวบาเกียเข้าไปในยุงลายตัวผู้ และนำมาฉายรังสีแกมม่า เพื่อให้เป็นหมัน เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียแล้วจะทำให้ไข่ฝ่อ เป็นการลดปริมาณลูกน้ำยุงลาย และการแพร่เชื้อไข้เลือดออก ซึ่งจะมีการนำร่องปล่อยสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
วันนี้ (16 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า การทำหมันยุงลายของ ม.มหิดล ถือเป็นวิธีการเสริมในการควบคุมปริมาณลูกน้ำและยุงลาย รวมถึงการลดการติดเชื้อโรคไข้เลือดออก เพราะส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ เมื่อยุงตัวผู้ที่ได้รับการฉีดแบคทีเรียโวบาเกียและผ่านรังสีแกมม่าให้เป็นหมัน เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงลายตัวเมียจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปอยู่ในรังไข่และไข่ ทำให้ไข่ฝ่อ โครโมโซมผิดปกติ ทำให้ลูกน้ำเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการลดการแพร่พันธุ์ ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบวิธีการทำหมันยุงลายโดยเฉพาะ มี นพ.วิชัย สติมัย ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เป็นประธาน เพื่อร่วมคิดร่วมทำกับ ม.มหิดล โดยเฉพาะการวิจัยปล่อยยุงลายที่ทำหมันออกสู่พื้นที่นำร่อง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ขอให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการลดปริมาณลูกน้ำยุงลายและลดไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง คือ มาตรการใส่ใจดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ยิ่งตอนนี้เปิดเทอมแล้วยิ่งต้องใส่ใจ มาตรการ 3 เก็บคือ เก็บขยะ เก็บบ้าน และเก็บน้ำให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงลายตัวแก่
นพ.วิชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ ม.มหิดล เลือกทำวิจัยในพื้นที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีในพื้นที่ แต่ตนได้เสนอไปว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนด้วย เพราะมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการวิจัย ซึ่งการเตรียมชุมชนนั้นในทางทฤษฎี คือ ต้องลดปริมาณยุงลายหรือฆ่ายุงลายในพื้นที่ทดลองให้เหลือสัดส่วนยุงลาย 10 ตัวต่อ 1 บ้าน จากนั้นจึงปล่อยยุงที่เป็นหมันลงไปในอัตรา 100 ตัวต่อ 1 บ้าน ซึ่งมีผลวิจัยที่รับรองว่ามากพอที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมยุงลาย 98 - 99% นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจกับคนในหมู่บ้านที่ทำการทดลองด้วย เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายอำเภอ เป็นต้น เพราะอาจเห็นว่ายุงลายมีปริมาณมากขึ้นแล้วไปกำจัด นอกจากนี้ จะต้องมีหมู่บ้านทดลองและหมู่บ้านควบคุมใกล้กัน เพื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาด้วยว่าได้ผลจริงหรือไม่
นพ.วิชัย กล่าวว่า แม้จะปล่อยยุงลายเป็นที่หมันลงไป แต่ทั้งพื้นที่ทดลองและพื้นที่ควบคุมก็ต้องดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บด้วย คือ เก็บขยะ เก็บบ้าน และเก็บน้ำให้มิดชิด ไม่ให้เป็นที่วางไข่หรือแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ ซึ่งเป็นมาตรการหลักที่ต้องดำเนินการ ซึ่งไม่น่าส่งผลต่อการวิจัย เพราะเป็นมาตรการการควบคุมยุงลายอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีรูปแบบวิจัยที่สามารถแยกผลให้ชัดเจนด้วย ทั้งนี้ คาดว่า จะมีการปล่อยยุงลายที่เป็นหมันได้ในช่วง มิ.ย. เพราะต้องมีการเตรียมยุงให้มากพอ รวมถึงเตรียมชุมชนให้มีความพร้อม และยังต้องให้คณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนพิจารณาและเห็นชอบด้วย สำหรับการประเมินผลการวิจัยในพื้นที่จะมีการประเมินทุกเดือน 3 เดือน และ 6 เดือน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 2559 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วมากกว่า 10,000 ราย มาตรการรณรงค์ลดปริมาณลูกน้ำยุงลายและไข้เลือดออก คือ ทั้ง 3 มาตรการแล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน พิชิตลูกน้ำยุงลาย สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ ที่ให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออก และวิธีการสำรวจลูกน้ำยุงลายในบ้านตัวเอง เพื่อใช้ในการควบคุมลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่