xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมปล่อย “ยุงลายหมัน” พื้นที่ทดลอง 4 มิ.ย. สธ.จ่อขยายทั่วประเทศ หากคุม “ยุงลาย-ไข้เลือดออก” สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมวิจัย ม.มหิดล พร้อมกรมควบคุมโรค เตรียมลงพื้นที่ ต.หัวสำโรง ปล่อยยุงลายเป็นหมันออกสู่ธรรมชาติ วันที่ 4 มิ.ย. นี้ พิสูจน์ความสำเร็จลดจำนวนลูกน้ำยุงลาย อัตราป่วยไข้เลือดออก เผย ทำความเข้าใจคนในพื้นที่เรียบร้อย รมว.สธ. พร้อมขยายผลทั่วประเทศหากสำเร็จ

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้างานวิจัยการทำหมันยุงลายตัวผู้ 2 ขั้นตอน ซึ่งจะมีการนำร่องปล่อยออกสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วง มิ.ย. นี้ เพื่อช่วยลดปริมาณลูกน้ำยุงลาย และไข้เลือดออก โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้ลงไปเตรียมพื้นที่ทดลองและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มห่วงว่าการปล่อยยุงลายตัวผู้ที่เป็นหมันดังกล่าวจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมก็ได้อธิบายทำความเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ยุงลายตัวผู้นั้นไม่ดูดเลือดคน แต่กินน้ำหวาน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใด ๆ ที่สำคัญคือ ผ่านการทำให้เป็นหมัน 2 ขั้นตอน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลายได้ ซึ่งหลังจากปล่อยยุงลายตัวผู้ก็จะมีการติดตามผลการวิจัยว่าสามารถช่วยลดปริมาณลูกน้ำยุงลายได้จริงหรือไม่

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การดำเนินการปล่อยยุงลายตัวผู้ที่เป็นหมันในพื้นที่ทดลอง คาดว่า จะปล่อยออกสู่ธรรมชาติในวันที่ 4 มิ.ย. 2559 นำโดยทีมวิจัย และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งจะปล่อยยุงลายที่เป็นหมันจำนวน 10 เท่า ของปริมาณยุงที่คาดการณ์ไว้ และจะมีการติดตามผลการดำเนินการเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีการติดตามทุกสัปดาห์ว่าปริมาณลูกน้ำยุงลายลดลงหรือไม่ และสถิติการป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยได้มีการลงไปควบคุมปริมาณยุงลายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเก็บข้อมูลสถิติจำนวนลูกน้ำยุงลาย และอัตราการป่วยโรคไข้เลือดออกไว้แล้ว

“ผมได้มีโอกาสหารือกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านก็เห็นด้วยกับการดำเนินการมาตรการควบคุมยุงลายและไข้เลือดออก โดยท่านคิดว่าหากพื้นที่ทดลองนั้นประสบความสำเร็จ สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลาย ยุงลาย และลดการป่วยโรคไข้เลือดออกลงได้สำเร็จ ก็จะมีการขยายผลนำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดการระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะลง” อธิบการบดี ม.มหิดล กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น