xs
xsm
sm
md
lg

“ทำไมเลขาธิการ สปสช.ต้องเป็นอิสระจาก สธ.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ข่าวการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เกิดการสะดุด เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช. สะท้อนวิธีคิดที่ต่างกันของสองฝ่ายได้อย่างน่าสนใจ
ฝ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและทีมที่ปรึกษา เห็นว่า “ผู้บริหารระดับสูงของ สธ. สามารถสมัครได้ ไม่ถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่าไม่ได้ เพราะมีส่วนได้เสีย แต่สายนี้ก็เห็นว่าควรตีความใหม่ ควรตีความอย่างกว้าง ไม่ควรปิดโอกาส” ให้ผู้บริหารระดับสูงของ สธ. ก็สมัครได้ เช่น กรณีของผู้ตรวจราชการ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงษ์ ซึ่งหากสอบตกก็กลับมาอยู่ สธ. รอขึ้นตำแหน่งอธิบดีต่อไป”
ส่วนฝ่ายแพทย์ชนบท ชมรมผู้ป่วยและองค์กรคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งภาคประชาสังคมเห็นว่า “เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความแล้วถึง 2 ครั้ง ล้วนเห็นตรงว่า ผู้บริหารสูงสุดของ สปสช. ควรเป็นอิสระจาก สธ. คนใน สธ. ที่มาสมัครจึงผิดคุณสมบัติ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ยืนข้างโรงพยาบาลแทนที่จะยืนข้างประชาชน ซึ่งหากเป็นไปตามกติกาที่ยึดมาตลอด 14 ปี นพ.วันชัย ที่ทาง รมต. ทั้งหนุนทั้งดันก็ตกคุณสมบัติ”
คำถามสำคัญคือ อะไรคือหลักคิดหลักการที่เราควรยึดถือในการก้าวออกจากความขัดแย้งเห็นต่างครั้งนี้
การจัดระบบบริการสุขภาพและการรักษาโรคในปัจจุบันนั้น ได้ถูกผูกขาดโดยวงการแพทย์ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นขาใหญ่แล้ว ยากที่ประชาชนทั่วไปจะมีอำนาจต่อรองกับโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลลงนัดคิวผ่าตาต้อกระจกไว้ 3 ปี คนจนที่ไม่มีเงินไปโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องจำใจรอ ดังนั้น จึงต้องมีองค์กรอีกองค์กรหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคนที่ช่วยต่อรองช่วยรีดประสิทธิภาพในระบบแทนประชาชน หรือที่ในทางวิชาการเรียกว่า องค์กรที่ทำหน้าถืองบต่อรองบริการแทนประชาชนนี้ว่าองค์กรผู้ซื้อบริการ นั่นก็คือ สปสช. นั่นเอง
ในทางวิชาการนั้น ประสิทธิภาพในระบบสุขภาพจะเกิดเมื่อแยกผู้จัดบริการ คือ โรงพยาบาลกับผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ซึ่งก็คือ สปสช. ออกจากกัน เพื่อให้เกิดความสมดุล
ก่อนที่จะมี สปสช. นั้น กระทวงสาธารณสุขเล่นบทเป็นทั้งผู้ถืองบ (ผู้ซื้อบริการ) และเป็นผู้บริหารจัดการโรงพยาบาล (ผู้จัดบริการ) เอง หรือเรียกว่า two in one จึงเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน อาจชงเองกินเอง หรือจะตรวจสอบกำกับตนเองอย่างเข้มข้นก็ยากลำบาก เพราะเป็นองค์กรเดียวกันก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ผลก็คือประสิทธิภาพในการให้บริการของโรงพยาบาลนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รักษามากก็เหนื่อยมาก รักษามากก็มีค่าใช้จ่ายมาก เป็นต้น
ความไม่มีประสิทธิภาพของการที่ผู้จัดบริการและผู้ถือเงินอยู่ในองค์กรเดียวกันนี่เอง นำมาสู่หลักการแยกผู้ซื้อ และผู้จัดบริการออกจากกัน หรือเรียกศัพท์วิชาการหรู ๆ ว่า “purchaser-provider split” ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกก็ใช้หลักการนี้ โดยสร้างอีกองค์กรหนึ่งมาเป็นองค์กรซื้อบริการแทนประชาชน แยกให้เป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข นั่นก็คือ สปสช. นั่นเอง
ดังนั้น คำตอบของการก้าวข้ามความขัดแย้งในครั้งนี้ คือ การยึดหลักการที่ดีที่สุดที่สากลยอมรับ คือ ต้องให้ สปสช. เป็นอิสระจาก สธ. ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่คุณหมอวันชัยว่าไม่มีความด่างพร้อย แต่อยู่ที่การมีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเกิดระบบอุปถัมป์ภายใต้กรอบคิดที่โอนเอียงมาทางฝั่งผู้จัดบริการ หากปลัด สธ. หรืออธิบดีกรมต่าง ๆ ที่เป็นเจ้านายเก่าขอมาจะปฏิเสธได้จริง หรือระบบอุปถัมภ์ขอกันได้ช่วยกันเองจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพที่แย่ลง
เราได้ค่อย ๆ เดินหน้าสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่สะสมประสิทธิภาพขึ้นมาเรื่อย ๆตลอด 14 ปี ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เราก็ทำได้ดีจนวันนี้ประเทศไทยที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนามีดัชนีระบบบริการสุขภาพ (Healthcare Index) ที่ดีอันดับ 4 ของโลกแล้ว แล้วเราจะเดินถอยหลังลงคลองไปทำไม
ด้วยหลักการสากล ที่เน้นประสิทธิภาพและจุดยืนเคียงข้างประชาชนผู้รับบริการ เลขาธิการ สปสช. จึงควรเป็นอิสระจาก สธ.

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น